สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ผลิตยารักษามะเร็งเต้านม

สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ผลิตยารักษามะเร็งเต้านม – ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ไทย ทรงมุ่งมั่นและทรงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

ด้วยทรงตระหนักถึงความยากลำบากของประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงยาชีววัตถุที่มีประสิทธิ ภาพในการรักษาโรคซึ่งมีราคาแพง

โดยเฉพาะ “โรคมะเร็ง” จึงทรงริเริ่มและทรงวางรากฐานในการพัฒนายาชีววัตถุภายในประเทศ ภายใต้โครงการ “ศูนย์วิจัยและพัฒนายาชีววัตถุ” โดยโปรดให้นักวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์คิดค้นและพัฒนายาชีววัตถุให้ได้มาตรฐานสากล และสามารถนำไปใช้ในผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ผลิตยารักษามะเร็งเต้านม

สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ผลิตยารักษามะเร็งเต้านม

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พุทธศักราช 2561 ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสบความสำเร็จในการพัฒนายาชีววัตถุคล้ายคลึง “Trastuzumab” (ทราสทูซูแมบ) ที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านมได้เป็นผลสำเร็จ

ถือว่าเป็นนวัตกรรมชิ้นแรกของประเทศไทยที่วิจัยและพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำโดยคนไทย เริ่มตั้งแต่การตัดต่อดีเอ็นเอและพัฒนาเป็นเซลล์ต้นแบบโดยไม่ใช้การถ่ายทอดเทคโน โลยีจากต่างประเทศ ซึ่งได้ลงพระนามและลงนามข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยและพัฒนายาชีววัตถุระหว่างสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

นับเป็นความสำเร็จในการนำยาชีววัตถุคล้ายคลึงที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์วิจัยและพัฒนาขึ้นเข้าสู่กระบวนการผลิต ซึ่ง มจธ.มีโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ เพื่อให้ได้ยาในปริมาณที่มากเพียงพอต่อการนำไปศึกษาความปลอดภัยของยาเพื่อนำไปขึ้นทะเบียนตำรับยาต่อไป

องค์ความรู้ใหม่ๆ นี้ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงยาที่มีคุณภาพระดับสากลในราคาที่ไม่แพง และประเทศไทยจะมีขีดความสามารถในการศึกษาวิจัย พัฒนา และผลิตยาชีววัตถุที่ใช้รักษาโรคมะเร็งหรือโรคร้ายแรงอื่นๆ ได้เอง อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงด้านสุขภาพและการแพทย์ รวมทั้งด้านเศรษฐกิจของประเทศ

สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ผลิตยารักษามะเร็งเต้านม

สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ผลิตยารักษามะเร็งเต้านมเพียง 6 เดือนต่อมา ทีมนักวิจัยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมชิ้นนี้ จากห้องปฏิบัติการขยายสู่กระบวนการผลิตในระดับโรงงานต้นแบบ ในถังปฏิกรณ์ ขนาด 50 ลิตร ตามแนวพระนโยบายที่มุ่งสู่ความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สามารถผลิตยาชีววัตถุได้มากเพียงพอสำหรับการตรวจวิเคราะห์คุณภาพยาชีววัตถุทางกายภาพ เพื่อการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง

เพื่อพิสูจน์ว่ายาชีววัตถุชนิดนี้สามารถนำไปใช้ศึกษาในผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่อไป นับเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ จากการวิจัยสู่การผลิตยาชีววัตถุที่จะสำเร็จเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันใกล้

ด้วยประสบการณ์และองค์ความรู้ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์พัฒนาขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาศักยภาพและกำลังคนของประเทศตามยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 นำไปสู่การดำเนินงานร่วมกับทีมงานจากมหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology (MIT) ในการก่อตั้งแอสเทรลลา เทคโนโลยีส์ เพื่อการคิดค้นและพัฒนาสารชีววัตถุ เพิ่มศักยภาพในการวิจัยและลดต้นทุนการนำเข้าสาร ชีววัตถุของประเทศไทย อันจะนำไปสู่การพัฒนากระบวนการผลิตยาในระดับอุตสาหกรรมของประเทศ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาระดับสูงอื่นๆ ในราคาที่ลดลง

ขั้นตอนต่อไปคือการศึกษาเพื่อพิสูจน์ว่ายาชีววัตถุชนิดนี้สามารถนำไปใช้ศึกษาในผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย จากนั้นจึงนำยาขึ้นทะเบียนตำรับยา ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทั้งเชิงนโยบายและงบประมาณอย่างเพียงพอและต่อเนื่องจากภาครัฐ นับเป็นการลงทุนเพื่อสร้างพื้นฐานสำคัญให้แก่ประเทศอันนำไปสู่ความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างคุ้มค่าต่อไปในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน