“สงขลานครินทร์” แชมป์นวัตวณิชย์ เตรียมต่อยอดเชิงพาณิชย์

“สงขลานครินทร์” – “สงขลานครินทร์” แชมป์ “เส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ระดับประเทศ ประจำปี 2562 – Research to Market: R2M Thailand 2019” จากผลงาน “วัสดุซับแรงกระแทกจากยางพารา” เตรียมต่อยอดเชิงพาณิชย์

“สงขลานครินทร์”

เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีการจัดแข่งขันประกวด “เส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ระดับประเทศ ประจำปี 2562 – Research to Market: R2M Thailand 2019” ซึ่งเป็นการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมในสถาบันอุดมศึกษามาเป็นโจทย์ให้นักศึกษาจัดทำแผนธุรกิจเพื่อเข้าประกวด

จัดโดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์(สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ในเครือข่าย 14 มหาวิทยาลัย มีทีมสมัครเข้าร่วมการแข่งขันจากทั่วประเทศมากกว่า 200 ทีม ปรากฎว่ามีทีมผ่านเข้ารอบระดับภูมิภาค จำนวน 62 ทีมและคัดเหลือ 20 ทีมสุดท้าย ในรอบชิงแชมป์ระดับประเทศ ทั้งนี้ได้มีการประเมินมูลค่าผลงานวิจัยพบว่า งานวิจัยที่เข้าร่วมการแข่งขั้นนี้มีมูลค่าขั้นต้นสูงถึงกว่า 35 ล้านบาท

การแข่งขันในปีนี้ได้รับการประกาศผลโดยคุณพูนสวัสดิ์ เผ่าประพัธน์ ผอ.ศูนย์นวัตกรรม กลุ่มธุรกิจ ซีพี ออลล์ ประธานคณะกรรมการตัดสิน โดยมีผลการแข่งขันดังนี้ ชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Pentagon จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลงานคือวัสดุซับแรงกระแทกจากยางพารา โดยได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ

โดยผลงาน วัสดุซับแรงจากยางพาราประกอบด้วยของเหลหรือโพลิเมอร์ที่มีคุณสมบัติเป็นไดลาแทนต์ที่แทรกตัวหรือผสมอยู่ภายในวัสดุยางพาราธรรมชาติทำให้วัสดุที่ได้มีคุณสมบัติซับแรงกระแทกเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถขึ้นรูปได้หลากหลาย เช่น โฟม ฟองน้ำ แผ่น ฟิมม์หรือถุงและสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

เช่นอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลเพื่อความปลอดภัยด้านกีฬา ทางด้านอุตสาหกรรม ทางด้านการทหารรวมถึงประยุกต์ใช้ในงานรับแรงสั่นสะเทือนตามคอสะพานหรืออาคารซึ่งวัสดุดังกล่าวผลิตได้เองในประเทศ มีต้นทุนต่ำและเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ

รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Fell Good มหาวิทยาลัยนเรศวร ผลงานคือบรรจุภัณฑ์ชีวภาพที่ย่อยสลายได้ 100% โดยได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม GreenMat G มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จากผลงานแผ่นไบโอฟิล์มเพื่อรักษาแผลสด แผลกดทับ หรือแผลเรื้อรัง ที่สกัดจากเศษไหมเหลือทิ้ง โดยได้รับเงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ

รางวัลชมเชย ได้แก่ ทีม SMOG จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผลงานเครื่องกำจัดตะกรันในท่อส่งน้ำบาดาลด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า โดยได้รับเงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ และ ทีม Sparkle Dew จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผลงานผลิตภัณฑ์ถุงห่อเครือกล้วยที่ช่วยเพิ่มคุณภาพของกล้วย โดยได้รับเงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ

น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการันย์ ผอ.สอว. กล่าวว่า การจัดการประกวด “เส้นทางสู่นวัตวณิชย์ หรือ Research to Market (R2M)” มีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้เกิดการนำงานวิจัยในสถาบันการศึกษาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพานิชย์อย่างจริงจังและตรงเป้าหมาย เพื่อผลักดันเศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรมของประเทศ


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน