น้ำอภิเษก (ตอนแรก)

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

น้ำอภิเษก (ตอนแรก)

น้ำอภิเษก (ตอนแรก)

น้ำอภิเษก (ตอนแรก) : รู้ไปโม้ด โดยน้าชาติ ประชาชื่น – อยากทราบถึงการจัดทำน้ำอภิเษกพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

มหานันท์

ตอบ มหานันท์

รองนายกรัฐ มนตรี วิษณุ เครืองาม ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายจัดพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เปิดเผยถึงการจัดทำน้ำอภิเษกว่า กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งให้จังหวัดสำรวจแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญตามโบราณราชประเพณีที่ใช้ในการพระราชพิธีภายในจังหวัด โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ

ส่วนที่ 1 น้ำสรงมุรธาภิเษก เป็นน้ำที่ตักจากสระศักดิ์สิทธิ์ 4 สระ ของจังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบด้วย สระแก้ว สระคา สระยมนา สระเกษ ตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี และน้ำจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ 5 สาย เรียกว่า เบญจสุทธคงคา ประกอบด้วย 1.แม่น้ำบางปะกง ตักที่บึงพระอาจารย์ ตำบลพระอาจารย์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก 2.แม่น้ำป่าสัก ตักที่บริเวณบ้านท่าราบ ตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี 3.แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่บริเวณปากคลองบางแก้ว ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง 4.แม่น้ำราชบุรี ตักที่บริเวณสามแยกคลองหน้าวัดดาวดึงส์ ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และ 5.แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ ตำบลสมอพลือ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี

น้ำอภิเษก (ตอนแรก)

ส่วนที่ 2 น้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ใน 76 จังหวัด จำนวน 107 แหล่งน้ำ และจากหอศาสตราคมในพระบรมมหาราชวัง จำนวน 1 แหล่งน้ำ รวมแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งสิ้น 108 แหล่งน้ำ ใช้เป็นน้ำอภิเษก

ทั้งนี้ คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีคำอธิบายเกี่ยวกับน้ำในพระราชพิธี ดังนี้

มุรธาภิเษก (มุ-ระ-ทา-พิ-เสก) ประกอบด้วยคำว่า มุรธ (มุ-ระ-ทะ) ซึ่งหมายถึง หัว หรือ ยอด กับคำว่า อภิเษก มุรธาภิเษก จึงใช้หมายถึง การรดน้ำอันศักดิ์สิทธิ์เหนือศีรษะ และหมายถึงน้ำพระพุทธมนต์และเทพมนตร์สำหรับถวายพระมหากษัตริย์เพื่อสรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือพระราชพิธีอื่นๆ

ตาม หนังสือประเพณีวังและเจ้า ของ หม่อมราชวงศ์เทวาธิราช ป.มาลากุล เมื่อจะทำน้ำพระมุรธาภิเษก เจ้าพนักงานตั้งพระพุทธรูปเป็นประธานพร้อมด้วยโต๊ะหมู่เป็นแท่นที่บูชา และตั้งภาชนะสำหรับใส่น้ำพระมุรธาภิเษก มีพานแว่นฟ้ารองรับ ภาชนะดังกล่าวเรียกว่า พระครอบมุรธาภิเษกทำด้วยทองสัมฤทธิ์ ด้านนอกหุ้มทองลงยา พระครูปริตรไทย 4 รูป และ พระครูปริตรมอญ 4 รูป เป็นผู้สวดพระปริตร

อินทราภิเษก (อิน-ทฺรา-พิ-เสก) แปลว่า แต่งตั้งผู้เป็นใหญ่โดยทำพิธีรดน้ำ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 อินทราภิเษกมีลักษณะพิเศษ 3 ประการ คือ 1.พระอินทร์นำเอาเครื่องราชกกุธภัณฑ์มาถวาย เมื่อจะได้ราชสมบัติ 2.เสี่ยงราชรถมาจดฝ่าพระบาท และ 3.เหาะเอาฉัตรทิพย์มากางกั้น

นอกจากนั้น การที่พระเจ้าแผ่นดินทำพิธีราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่งเมื่อปราบพระเจ้าแผ่นดินอื่นให้อยู่ในอำนาจได้มาก ก็เรียกว่า อินทราภิเษก คือ ทำพิธีแสดงว่าพระองค์เป็นใหญ่เหนือพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลาย ในกฎมณเฑียรบาลกล่าวถึงพระราชพิธี อินทราภิเษกว่ามีการตั้งเขาพระสุเมรุชักนาคดึกดำบรรพ์ สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเคยมีพระราชพิธีอินทราภิเษก สมัยรัตนโกสินทร์ไม่เคยมีพระราชพิธีอินทราภิเษก มีแต่ฉากเขียนลายรดน้ำภาพพระราชพิธีอินทราภิเษก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างขึ้น อยู่ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

น้ำสรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ได้จากแหล่งน้ำสำคัญ ในสมัยอยุธยาใช้น้ำจากสระสำคัญ 4 สระในแขวงเหมืองสุพรรณบุรี สมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 เพิ่มน้ำจากแม่น้ำสำคัญของประเทศอีก 5 สาย เรียกกว่า “เบญจสุทธคงคา” (เบ็น-จะ-สุด-ทะ-คง-คา) ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 2 เพิ่มน้ำจากแม่น้ำ 5 สายในประเทศอินเดีย ซึ่งเรียกว่า “ปัญจมหานที” ต่อมาในรัชกาลที่ 6 เมื่อมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช พ.ศ.2454 เพิ่มน้ำที่ตักจากแม่น้ำและแหล่งน้ำอื่นๆ ที่มณฑลต่างๆ ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญและเป็นสิริมงคล

โดยทำพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ณ พระมหาเจดียสถานสำคัญ 7 แห่ง และวัดสำคัญในมณฑลต่างๆ 10 มณฑล ในรัชกาลที่ 7 ทำพิธีเสกน้ำเพิ่มจากที่ทำในรัชกาลที่ 6 อีกแห่งหนึ่ง คือที่พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ ล่วงมาถึงรัชกาลที่ 9 ทำพิธีเสกน้ำ 18 แห่งเท่าสมัยรัชกาลที่ 7 แต่เปลี่ยนสถานที่จากเดิม 2 แห่งคือ เปลี่ยนจากวัดมหาธาตุเมืองเพชรบูรณ์และพระธาตุช่อแฮ เป็น บึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด และพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน

ฉบับพรุ่งนี้ (6 มี.ค.) อ่านกันต่อ ว่าด้วยคำเกี่ยวกับน้ำในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

อ่าน : สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการ ตั้งการพระราชพิธี บรมราชาภิเษก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก : บทบรรณาธิการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน