เสด็จเลียบพระนคร (ตอนแรก)

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดยน้าชาติ ประชาชื่น

เสด็จเลียบพระนคร (ตอนแรก) : รู้ไปโม้ด – น้าชาติ การเสด็จเลียบพระนคร ประวัติเป็นมาอย่างไร เสด็จอย่างไร

แรมจันทร์

เสด็จเลียบพระนคร

ตอบ แรมจันทร์

แนวคิดการเสด็จเลียบพระนครนั้น ณัฏฐภัทร จันทวิช ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ กรมศิลปากร ระบุไว้ในรายงานพิเศษ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ว่า การจัดริ้วกระบวนพยุหยาตราสถลมารค รวมถึงชลมารค เป็นการแสดงแสนยานุภาพในกองทัพทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือของพระมหากษัตริย์ไทยมาแต่โบราณ

การจัดริ้วขบวนพยุหยาตราสถลมารค ถ้าพิจารณาถึงกระบวนทัพหลวง มีองค์พระมหากษัตริย์ประทับบนพระที่นั่งราเชนทรยาน หรือบางรัชกาลประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทอง โดยพระราเชนทรยานหรือพระที่นั่งราชยานพุดตานทอง ที่พระมหากษัตริย์ตั้งแต่อดีตประทับในกระบวน บนฐานแต่ละชั้นล้วนประดับด้วยลวดลาย “เทพพนมและครุฑพนม” สื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ว่า พระราชยานที่ประทับคือโลกสวรรค์ที่เขาพระสุเมรุของพระอินทร์ หรือเขาที่ไกรลาสขององค์พระศิวะ รอบๆ สวรรค์มีเทวดาและครุฑ ซึ่งเป็นเทพบริวารร่วมกันมาชื่นชมพระบารมีขององค์สมมติเทพ หรือทิพยเทวาวตาร คือองค์พระมหากษัตริย์ที่ประทับบนพระราชยาน

และหากให้ความสำคัญกับรูปครุฑ ย่อมมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์คือองค์พระวิษณุซึ่งมีครุฑเป็นพาหนะมาคอยรับใช้เมื่อเสด็จไปในที่ต่างๆ นอกจากนี้ “เครื่องสูง” ในกระบวนแห่ห้อมล้อมพระราชยาน ไม่ว่าจะเป็นบังสูรย์ บังแทรก พัดโบก จามร พุ่มดอกไม้ทอง พุ่มดอกไม้เงิน ตลอดจนเครื่องประดับโคมต่างๆ ล้วนเป็นการจำลองภาพของริ้วขบวนขององค์เทวะมาใช้กับองค์สมมติเทพในมนุษย์โลก นั่นคือพระมหากษัตริย์นั่นเอง

ริ้วขบวนพยุหยาตราชลมารค ซึ่งแสดงแสนยานุภาพของ กองทัพเรือ ก็พบว่ากระบวนเรือ หรือเรือแต่ละลำ ประดิษฐ์โขนเรือเป็นรูปสัตว์ เช่น สัตว์ที่มีความว่องไว สัตว์ในเทพนิยาย และสัตว์จากเรื่องรามายณะ หรือรามเกียรติ์ เช่น โขนเรือ รูปเสือ รูปเลียงผา รูปนกอินทรี รูปมังกร รูปลิง รูปครุฑ รูปหงส์ และรูปนาค ตลอดจนพวกอมนุษย์ เช่น อสูร

บรรดาเรือที่อยู่รอบๆ เรือพระที่นั่งลำทรง หรือในกระบวนทัพหลวง จะพบว่าเป็นเรือที่มีโขนเป็นรูปมนุษย์ที่เป็นเทพบริวาร หรือเป็นพาหนะของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ อาทิ หงส์เป็นพาหนะของพระพรหม พระยานาคเจ็ดเศียรหรืออนันตนาคราชเป็นที่ประทับของพระวิษณุ และครุฑเป็นพาหนะของพระวิษณุ ส่วนโขนเรือรูปลิงจะมีรูปหนุมาน สุครีพ พาลี จากเรื่องรามเกียรติ์ ลิงที่กล่าวล้วนเป็นทหารเอกที่สำคัญของพระรามซึ่งทรงเป็นอวตารภาคหนึ่งของพระวิษณุหรือพระนารายณ์ ริ้วกระบวนเรือนี้จึงเป็นริ้วกระบวนที่มาห้อมล้อมองค์สมมติเทพที่ทรงเป็นอวตารภาคหนึ่งของพระวิษณุตามคติความเชื่อดั้งเดิมในราชสำนักเผยราชประเพณี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 21 ระบุว่า กระบวนพยุหยาตรา คือริ้วกระบวนเสด็จพระราชดำเนินในโอกาสต่างๆ การจัดรูปกระบวนกระทำเช่นเดียวกับกระบวนยุทธ์ในสมัยโบราณ ประกอบด้วยกระบวนแห่หน้าหลังอัญเชิญธง เครื่องสูงซึ่งเป็นเครื่องประดับพระเกียรติยศ เช่น ฉัตร พัดโบก จามร บังแทรก บังสูรย์ และกลด กระบวนศัสตราวุธ กระบวนช้าง และกระบวนม้า หากเป็นการเสด็จพระราชดำเนินทางบกเรียกว่า กระบวนพยุหยาตราสถลมารค ส่วนกระบวนพยุหยาตราชลมารคก็คือการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ ประกอบด้วยริ้วกระบวนเรือที่สวยงามตระการตา เป็นพระราชพิธีที่กระทำสืบเนื่องมาตั้งแต่สุโขทัย

กระบวนพยุหยาตราสถลมารค เป็นกระบวนที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปวัด เช่น เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท หรือเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน บางโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร เพื่อโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมี สมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการเสด็จเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค 3 ครั้ง คือในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนแห่เลียบพระนครครั้งหนึ่ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัวครั้งหนึ่ง และอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ในกระบวนพยุหยาตราชลมารคนี้ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และเสนาบดี ที่ตามเสด็จในกระบวน ล้วนทรงฉลองพระองค์และแต่งกายอย่างงดงาม พระมหากษัตริย์ทรงเครื่องสนับเพลาเชิงงอน พระภูษาเขียนทอง ฉลองพระองค์ตาดจีบ คาดเจียระบาด สายรัดพระองค์เพชร ทรงพระสังวาล พระธำมรงค์ ทรงพระมาลาเพชร

ฉบับพรุ่งนี้ (12 มี..) ยังมีความรู้เรื่องเสด็จเลียบพระนครจาก 2 นักวิชาการให้อ่านกันต่อ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน