คอลัมน์ หลากหลาย

การแก้ปัญหาเรื่อง “ท้องไม่พร้อม” ในวัยรุ่น เป็นภารกิจสำคัญด้านหนึ่งของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.)

หลังจากร่วมมือกับ 5 หน่วยงานหลัก ตามพ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยหน่วยงานระดับอินเตอร์ อย่างองค์การกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือ UNFPA Unicef และเครือข่ายเยาวชนที่เข้าร่วมด้วยในงานประชุมระดับชาติ เรื่อง สุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 2 หัวข้อ เซ็กซ์เปิดในวัยรุ่น : เปิดพื้นที่เพิ่มความฉลาดรู้เรื่องเพศ โดย มีนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน

ภายในงานจัดแต่ละห้องเป็นเสมือนหน่วยการเรียนรู้เรื่องต่างๆ เช่น ห้องนวัตกรรมมุ่งประสิทธิผลในงานสุขภาวะทางเพศและเอดส์ เรื่องเพศในสื่อสมัยใหม่ สาธิตกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษา เพื่อให้ความรู้ต่อน้องๆ สภาเด็กและเยาวชนทุกจังหวัดและประชาคมอื่นๆ

จากข้อมูลที่เผยแพร่ในงาน พบว่าสถานการณ์เด็กและเยาวชนในปัจจุบันจะพบปัญหาการเกิดน้อยด้อยคุณภาพ เนื่องจากสัดส่วนการทดแทนประชากรที่ลดลง ขณะที่ปัญหาแม่วัยรุ่นมีจำนวน มากขึ้น โดยในปี 2558 มีจำนวนหญิงคลอดบุตรวัย 10-19 ปี จำนวน 104,289 คน หรือเฉลี่ยวันละ 286 คน คิดเป็นอัตราสูงถึงร้อยละ 15 ของการคลอดทั้งหมด หรือเท่ากับวัยรุ่นหญิงไทยทุก 1,000 คน จะมีวัยรุ่นหญิงที่คลอดลูก 43 คนจากปัญหาดังกล่าว

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า จำเป็นต้องร่วมกันหาแนวทางเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2569 จะต้องลดแม่วัยรุ่นให้ได้ร้อยละ 50

รมว.สธ. กล่าวว่า เพื่อให้งานบรรลุเป้าหมายดังกล่าว การทำงานต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย ไม่เพียงแค่ 5 กระทรวง แต่ยังมีกระทรวงอื่นๆ หน่วยงาน อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก ทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม และกระทรวงวัฒนธรรม รวมทั้งต้องดึงภาคี ภาคประชาสังคม

แม้ขณะนี้มีพ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการ ตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 แต่ยังไม่ได้หมายความว่าสำเร็จแล้ว ความสำเร็จคือต้องทำงานผ่านกฎหมายนี้ให้ได้ คือนำมาใช้จริง โดยกรมอนามัย ถือเป็นฝ่ายเลขานุการ ในการเดินหน้า ประสานแต่ละหน่วยงานทำงานร่วมกัน โดยหลักคือต้องป้องกันไม่ให้เกิดปัญหามากที่สุด

โดยเฉพาะปีนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะเป็นก้าวแรกของการทำงาน ต้องวางรากฐานให้ดี และควรมีการมอนิเตอร์การทำงานทุก 6 เดือนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้เห็นผล เป็นรูปธรรม

สิ่งสำคัญต้องสร้างความเข้าใจ เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นว่าเขาต้องการอะไร และจะแก้ปัญหาอย่างไร แน่นอนว่า ต้องทำให้ครอบครัว พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ทั้งหลายตระหนักให้ได้ว่า การเปิดพื้นที่ การรับฟังเรื่องเพศ เป็นสิ่งที่ไม่ต้องอายอีกต่อไป เพราะปัญหาคือขณะนี้ผู้ปกครองส่วนมากยังไม่เปิดใจคุยเรื่องเพศกับลูก เพราะยังมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรนำมาพูดกันอย่างเปิดเผย และมองว่าเป็นเรื่องต้องให้ครูเป็นผู้สอนเท่านั้น จึงทำให้เรื่องดังกล่าวยังเป็นปัญหาที่แก้ยากอยู่

“เรื่องนี้ไม่ใช่สนับสนุนให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ แต่จะดีกว่าหรือไม่ หากให้พวกเขาได้รับรู้ว่า การป้องกันเรื่องเพศควรทำอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร ทั้งไม่ต้อง ตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ในวัยเรียน และไม่เสี่ยงติดโรคทางเพศสัมพันธ์อีก เพราะยุคนี้เป็นยุคข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชี่ยล หากเราไม่ให้ความรู้พวกเขา พวกเขาก็สามารถไปหาได้ทางอินเตอร์เน็ต” นพ.ปิยะสกลกล่าว

ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส.กล่าวว่า การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่สสส.ให้ความสำคัญ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจึงได้ร่วมกับภาคี เครือข่ายทั้งภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์และลงลึกในทางปฏิบัติระดับพื้นที่จำนวน 20 จังหวัดนำร่อง ซึ่งช่วยให้ได้บทเรียนและชุดความรู้ที่นำมาใช้สนับสนุนการพัฒนาร่างยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นตามพ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นประตูสำคัญสู่การทำงานร่วมกันในระดับนโยบาย

ตามมาด้วยการเชื่อมโยงจากนโยบายไปสู่กลไกในทางปฏิบัติเชิงพื้นที่ ทั้งระบบที่ เชื่อมโยงระหว่างโรงเรียน สถานบริการสุขภาพ ระบบสวัสดิการครอบครัว ท้องถิ่นองค์กรการจ้างงาน และหน่วยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มีโอกาสบรรลุตาม เป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน