ยืน-เดิน-นั่ง-นอน ผิดท่าอาจทำป่วยได้

ยืน-เดิน-นั่ง-นอน ผิดท่าอาจทำป่วยได้ – ท่ายืน เดิน นั่ง นอน อย่าคิดว่าไม่สำคัญ

คุณเพ็ญพิชชากร แสนคำ ผู้จัดการคลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (อาคารคิวเฮ้าส์ ลุมพินี) แนะนำว่า การใช้ชีวิตประจำวัน หนีไม่พ้นอิริยาบถ ยืน เดิน นั่งและนอน ท่าทางเหล่านี้มีผลกระทบต่อโครงสร้างร่างกาย หากอยู่ในท่าทางที่ผิด มักเป็นการสะสมความผิดปกติให้กับร่างกายและก่อให้เกิดโรคในที่สุด

จึงจำเป็นที่ต้องตระหนักถึงการอยู่ในอิริยาบถที่ถูกต้อง

ยืน-เดิน-นั่ง-นอน ผิดท่าอาจทำป่วยได้

1.การยืน การยืนที่ถูกวิธีต้องฝึกฝนให้เกิดความคุ้นเคย เริ่มจากเท้าทั้งสองข้างกางอยู่ในระดับเดียวกันกับสะโพก ปลายเท้าทั้งสองข้างชี้ไปด้านหน้า การลงน้ำหนักให้ลงฝ่าเท้าทั้งสองข้างเท่าๆ กัน โดยน้ำหนักจะลงด้านนอกของฝ่าเท้า เข่าทั้งสองข้างเหยียดตรง ไม่แอ่นมากเกินไป สะโพกให้ยืนขมิบก้นเล็กน้อย พร้อมกับแขม่วท้อง ลำตัวและสะบัก ลำตัวยืดตรง ดึงสะบักผายหัวไหล่ไปด้านหลังเล็กน้อย

การทดสอบว่าเรายืดหรือดึงสะบักมากไปหรือไม่ ให้ลองดึงสะบักผลักหัวไหล่ไปด้านหลังให้เต็มที่ แล้วปล่อยกลับครึ่งหนึ่ง ครึ่งหนึ่งนั้นนั่นคือการดึงสะบักและผลักหัวไหล่ที่พอดีสำหรับตัวเรา ซึ่งไม่เกร็งเกินไป ค้างไว้เช่นนี้ตลอดเวลาที่นึกได้

ยืน-เดิน-นั่ง-นอน ผิดท่าอาจทำป่วยได้

2.ท่านั่ง ต้องเลื่อนก้นให้ชิดพนัก เข่าอยู่ระดับเดียวกันกับสะโพกหรือต้องต่ำกว่าเล็กน้อย เท้าวางกับพื้นพอดีให้สบายๆ ข้อเท้าไม่ตกหรือลอยจากพื้น น้ำหนักตัวลงที่กลางก้นทั้งสองข้างเท่าๆ กัน ยืดลำตัว ดึงสะบักและผลักหัวไหล่ไปด้านหลังเบาๆ อาจใช้หมอนดันที่บั้นเอวเพื่อให้หลังช่วงล่างแอ่นเล็กน้อย

เวลานั่งใช้คอมพิวเตอร์ ข้อมือต้องอยู่ระดับเดียวกับข้อศอก หากเก้าอี้มีที่พักแขนก็ทำให้กล้ามเนื้อไม่ต้องทำงานหนักมากไป ท่านั่งบางท่าทำให้โครงสร้างร่างกายเสียสมดุลได้ และในระยะยาวก็ทำให้เป็นโรคร้ายแรง เช่น นั่งไขว่ห้างทำให้กระดูกสันหลังคด เสี่ยงต่อหมอนรองกระดูก นั่งหลังค่อมไหล่งุ้ม คอยื่น ทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมทับเส้นประสาท อาจทำให้อ่อนแรง-ชาที่มือ ปวดคอเรื้อรัง ทำให้การทำงานของปอดและหัวใจไม่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ

ยืน-เดิน-นั่ง-นอน ผิดท่าอาจทำป่วยได้

3.ท่านอน เวลานอนเป็นเวลาที่ร่างกายได้ผ่อนคลายมากที่สุด และได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ท่านอนที่ถูกต้องช่วยให้ร่างกายได้ผ่อนคลายและซ่อมแซม ตัวเองได้ดี

ท่านอนที่ถูกต้อง และทำให้โครงสร้างระบบกระดูกกล้ามเนื้อผ่อนคลาย คือ ท่านอนหงาย มีหมอนรองใต้เข่า หมอนหนุนศีรษะต้องหนุนใต้หัวไหล่เล็กน้อย ศีรษะต้องอยู่แนวเดียวกันกับลำตัว ที่นอนก็ต้องไม่นิ่มจนเกินไป

การนอนตะแคงอาจเหมาะกับผู้มีปัญหาเรื่องการหายใจ แต่ในทางโครงสร้างร่างกาย การนอนตะแคงจะทำให้น้ำหนักตัวกดทับหัวไหล่ คอด้านที่นอนทับจะพับกดการไหลเวียนของเลือดและเส้นประสาท มักพบว่าคนไข้ที่มีอาการปวดไหล่ ไหล่ติด ปวดคอด้านเดียว หันคอไม่ได้ หรือที่เรียกอาการคอตกหมอน ปวดร้าวลงแขน แขนชา มากกว่า 80% มักมาจากการนอนตะแคง

ดังนั้นการฝึกนอนในท่านอนหงายก็เป็นการช่วยป้องกันอาการปวดไหล่ ปวดคอได้

ยืน-เดิน-นั่ง-นอน ผิดท่าอาจทำป่วยได้

4.ท่าเดิน ปกติการเดินต้องอาศัยความ แข็งแรงของกล้ามเนื้อขาและสะโพก เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องและเหมาะสม การเดินที่ใช้กล้ามเนื้อไม่ถูกส่วนนั้น มักมีผลทำให้มีแรงกระแทกต่อข้อต่อกระดูกสันหลัง ข้อสะโพก ข้อเข่า และข้อเท้า ซึ่งนานวันเข้ามักจะทำให้เกิดความเสื่อมของข้อต่อต่างๆ ก่อนถึงวัยอันควร

การเดินที่ถูกนั้น สังเกตง่ายๆ คือตอนลงน้ำหนักขาด้านไหน กล้ามเนื้อขาด้านนั้นต้องหดตัว

ท่าง่ายๆ เพื่อฝึกเดินให้ถูกต้อง ให้ฝึกขมิบก้น-แขม่วท้อง ยืดตัวตรง ให้รู้สึกเหมือนร่างกายถูกดึงขึ้นด้านบน เหมือนกำลังลอยจากพื้นขณะก้าวเดิน จะกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อแกนกลางกระดูกสันหลัง ทำให้ลดแรงกระแทกตามข้อต่อต่างๆ ได้

ส่วนรูปแบบการเดินที่ถูกต้องนั้น เริ่มจากการลงน้ำหนักที่เท้าแล้วค่อยๆ ถ่ายน้ำหนักมาตรงกลางเท้า และปลายเท้าแล้วค่อยยกเท้าลอย ตอนที่ลงน้ำหนักขานั้นเป็นช่วงที่ต้องขมิบก้นไว้เพื่อให้สะโพกไม่บิด เกินไป

ลองปรับท่าให้ถูกต้อง แล้วจะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของร่างกายในทางที่ดีขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน