คุณจะใช้ชีวิตอย่างไร เมื่อกลายเป็นผู้พิการ หรือป่วยโรคร้ายที่รักษาได้ยาก

Life is Miracle มองชีวิตให้อยู่กับความเป็นจริง

คุณจะใช้ชีวิตอย่างมหัศจรรย์ได้ไหม..
หากวันหนึ่งคุณประสบอุบัติเหตุต้องกลายผู้พิการ หรือล้มป่วยเป็นโรคร้ายแรงที่ยากจะรักษา…?

คำตอบที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ น่าจะมาจาก Life is Miracle หนึ่งในหัวข้อสนทนาจากงาน 20 ปี HA National Forum : Change and Collaboration for Sustainability จัดโดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)

ซึ่ง ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ และ ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ได้ผลัดกันนำประสบการณ์ของพวกเธอมาแบ่งปัน เชื่อได้ว่าหลายคนที่ได้มาฟังเสวนาในครั้งนี้คงจะมีมุมมองใหม่ๆ ให้ขบคิดกันอย่างมีความสุข

ณิชชารีย์ เล่าเรื่องราวของเธอด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม แม้ว่าก่อนนี้เธอจะเสียขาทั้งสองข้างไปเพราะอุบัติเหตุที่ประเทศสิงคโปร์ เหตุการณ์วันนั้น ระหว่างที่กำลังรอรถเข้าสู่ชานชาลา เธอพลาดตกลงไปบนราง โชคร้ายที่รถไฟฟ้าวิ่งพอดีในจังหวะนั้น ทำให้เธอได้รับบาดเจ็บสาหัส

นอกจากบาดแผลทางร่างกาย เธอยังต้องต่อสู้คดีเพื่อรับการเยียวยาอย่างยืดเยื้อ เหตุการณ์นี้เป็นข่าวใหญ่ในประเทศไทยด้วย แม้จะมานานหลายปีแล้ว เชื่อว่าหลายๆ คนคงจำเธอได้ ณิชชารีย์ ในวันนี้แข็งแรงขึ้นมาก เธอหัดใช้ขาเทียมจนสามารถเดินไปไหนต่อไหนได้คล่องแล้ว

ที่สำคัญคือจากคนเคยเป็นผู้รับกำลังใจในฐานะผู้ป่วย เธอได้เปลี่ยนความรู้สึกดีๆ เหล่านั้นมาสร้างพลังบวกให้ตัวเอง จนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข แถมยังกลายมาเป็นผู้สร้างกำลังใจเพื่อส่งต่อพลังบวกนี้ไปยังคนอื่นๆได้อีกมากมายด้วย

แต่กว่าจะมาถึงตรงนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ณิชชารีย์ ยอมรับว่า เคยท้อมากๆ ในช่วงที่ต้องรับการรักษาหลังจากเกิดอุบัติเหตุ ตอนนั้นเธออยู่ที่ประเทศสิงคโปร์และต้องรับการผ่าตัดใหญ่ถึง 7 ครั้ง จนรู้สึกว่าช่วงเวลาแต่ละนาทีช่างผ่านไปได้แสนยากเย็นเลยทีเดียว

“ตอนเกิดอุบัติเหตุ เราเห็นเหตุการณ์ มันเกินเจ็บแต่ชาจนไม่รู้สึกอะไรแล้ว พยายามกระดิกนิ้วเท้าแต่ไม่สามารถกระดิกได้ คิดว่าต้องถูกตัดขาแน่ พอมาอยู่ในโรงพยาบาล มียา มีสายต่างๆ มีเครื่องบางอย่างต่อเข้ามาทำให้เราเจ็บมาก สิ่งพิเศษสำหรับเราในตอนนั้นคือ มอร์ฟีน ทั้งที่ไม่เคยคิดว่าชีวิตนี้ติดอบายมุขใดๆ เราอยู่ชีวิตอยู่แบบนั้น อยู่เฉพาะภายในห้องไปไหนไม่ได้เป็นเดือน”

ในระหว่างการรักษา เธอมองเห็นใบหน้าที่เศร้าสร้อยของใครต่อหลายคนที่มาเยี่ยม แม้ว่าจะมาพร้อมของฝากแบบที่สดใส เมื่อเห็นแบบนี้มากเข้า เธอจึงฉุกคิดขึ้นมาว่า การเห็นคนมาเยี่ยมด้วยสภาวะที่เศร้ากว่ามันไม่โอเค หากมีโอกาสเธออยากเปลี่ยนแปลงตรงนี้ นั่นจึงเป็นที่มาของงานปัจจุบันที่เธอทำ ซึ่งก็คือการเป็น ‘ผู้สำรวจความสุข’ ในโรงพยาบาล

“การเป็นนักสำรวจความสุข คือ การเข้าไปหาผู้ป่วย ไปคุย ไปถาม คอยเป็นเพื่อน ประสานคนนั้นคนนี้ ทำให้เขารู้สึกว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้มีความสุข ความจริงไม่เฉพาะในโรงพยาบาล ช่องว่างนี้ป็นกันทุกคน มนุษย์มักไม่ค่อยสื่อสารกัน หมอไม่รู้จะบอกดีไหม หรือคนไข้ก็ไม่กล้าถาม แต่เราเป็นคนที่เขาเปิดใจให้ได้”

หากถามว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดตรงนี้ได้“วีลแชร์ คือ ข้อดีในเรื่องนี้ ถ้าเดินไป เขาจะรู้สึกว่าเราแข็งแรง เราไม่เหมือนเขา แต่ถ้านั่งรถเข็นมันทำให้เขามองว่า เราใกล้ เราเข้าใจและเป็นที่พึ่งให้เขาได้ การที่เราเกิดอุบัติเหตุมา เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนเหตุการณ์ตรงหน้าเป็นอนาคตได้”

ณิชชารีย์ บอกว่า อุบัติเหตุทำให้มองเห็นคุณค่าในชีวิตมากขึ้น มองหลายๆ เรื่องในมุมบวกขึ้น การคิดบวกเป็นเรื่องที่ฝึกได้ ทุกคนมีทั้งคิดบวกและลบในตัวเอง เคยสังเกตไหมว่า ถ้าคิดลบ มันก็จะลบไปเรื่อยๆ การคิดบวกคือทางกลับกัน ถ้าฝึกไปเรื่อยๆ ต่อไปจะคิดบวกไปเองโดยอัตโนมัติ

“เริ่มต้นเลยก็คือมองว่าเราทำอะไรได้ตอนนี้ แล้วหาเป้าหมาย หาต้นแบบให้ชีวิต หาแรงบันดาลใจจนสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายมาได้ การคิดบวกไม่ได้หมายความว่าต้องคิดทุกอย่างให้บวก อันนั้นคือโลกสวย แต่คิดบวกคือการคิดถึงการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อชีวิตมากกว่า” ณิชชารีย์ เผย

ด้านศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ อดีตผู้ป่วยที่โชคไม่ดีนัก เมื่อเธอต้องป่วยเป็นมะเร็งและเมื่อได้รับการรักษาจนคิดว่าหายแล้วก็กลับเป็นซ้ำอีก และคราวนี้หมอบอกว่าดูไม่มีหวังนัก “เป็นมะเร็งซ้ำ ไม่มีอะไรน่าเสียใจเท่าไม่มีทางหาย”

แต่เธอยังพยายามหลังจากค้นหาวิธีต่างๆ นานาเพื่อสู้ เธอพบว่า ทางรอดมีทางเดียวคือต้องใช้สเตมเซลซึ่งต้องเข้ากัน ดีที่สุดคือของตัวเอง แต่เธอไม่สามารถเก็บได้ ลองไปหาจากญาติ หรือจากคลังสเตมเซลต่างๆ ไม่มีที่ใดเข้ากับเธอได้

“วันนั้นเศร้ากว่าวันที่เรารู้ว่าเป็นมะเร็ง คือวันที่หมอบอกว่าเก็บสเตมเซลไม่ได้ เพราะเป็นทางออกเดียวของเรา เรารู้สึกว่าเราไม่เคยท้อ แต่วันที่คนในบ้าน หมอและทีมงานท้อ บอกให้พอ เรารู้สึกสิ้นหวัง”

แต่ ศิรินทิพย์ ยังไม่หยุดที่จะสู้ เธอบอกกับหมอว่าจะดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรงที่สุด เพื่อให้หมอรักษาอย่างไรก็ได้ ถึงเสียชีวิตก็ไม่ฟ้อง จะทดลองด้วยยาตัวใดก็ได้

“เราสู้จนไม่รู้จะสู้อย่างไรแล้ว จนมาคิดได้ว่าชีวิตไม่ใช่การต่อสู่ เราเปลี่ยนสมการความคิดเป็น สิโรราบ คำนี้ไม่ได้หมายถึงยอมแพ้ แต่คือการยอมรับ ใครที่บอกว่าว่าสู้ๆ ไม่ใช่ เราสู้มาตลอด ยิ่งคนพูดมันยิ่งบั่นทอน เราไปหาความหวัง สร้างศรัทธาของเราเอง ขอพรจากพระเจ้า เราอยากมีชีวิตต่อ อยากทำอะไรดีๆ ต่อไป เราเปลี่ยนจากเคยเป็นคนวางแผนชีวิตแบบล่วงหน้าเป็นปีสองปี ตอนนี้เรามองเป็นนาทีต่อนาที”

แล้วสิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น ศิรินทิพย์ บอกว่า เมื่อสิโรราบให้กับมะเร็ง กลับกลายเป็นยาคีโมตอบสนองต่อโรค เมื่อไม่ได้มองว่าการที่เราเกิดมาเพื่อสู้แต่เกิดมาเพื่อสร้างกำลังใจในที่สุดก็กลายเป็นรักษาได้

ในช่วงท้าย ศิรินทิพย์ ได้ฝากข้อคิดในการอยู่กับมะเร็งอย่างเป็นสุข 10 ข้อ เพื่อเป็นแนวทาง สำหรับคนอื่นๆ หนึ่งคือยอมรับความจริง กลับมาอยู่กับปัจจุบัน อย่าเอาอดีตที่แก้ไม่ได้มาย้ำเตือน สองอยู่กับคนและบรรยากาศที่เป็นบวก หาแหล่งพลังงานดีๆ ให้เจอ สามมีสติรู้เท่าทันตัวเอง สี่ไม่ปรียบเทียบกับคนอื่น

ห้าอยู่กับปัจจุบันไม่กังวลถึงอนาคต ส่วนอดีตแก้ไม่ได้แล้ว หกมองโลกตามความเป็นจริง มีความสุขกับสิ่งรอบตัว มีความหวังกับสิ่งที่เชื่อมั่น เจ็ดให้รางวัลตัวเองเมื่อมีโอกาส แปดตั้งเป้าหมายและความฝันในชีวิตใหม่ เก้าใช้ชีวิตตามปกติ และสุดท้ายคือแบ่งปันเรื่องเราวดีๆให้กับคนอื่นเพื่อเติมพลังในตัวเอง

“ชีวิตคนเราท้อได้ มีวันที่จะหมดแม็กซ์ได้ ต้องกลับมาใช้ชีวิตที่เป็นปกติ สร้างสมดุลจากภายใน อย่าสุดโต่ง ทำจิตใจให้สบาย เราอย่าลืมว่าเราช่วยเหลือทุกคนไม่ได้ แต่เราสามารถทำด้วยจิตใจที่อยากให้จริงๆได้” ศิรินทิพย์ ทิ้งท้าย


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน