แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ (ตอนจบ)

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย… น้าชาติ ประชาชื่น

แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ (ตอนจบ) : รู้ไปโม้ดโดยน้าชาติ ประชาชื่น – ฉบับวานนี้ (2เม.ย.) “สายน้ำผึ้ง” อยากทราบการตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ของรัชกาลต่างๆ เมื่อวานตอบถึงรัชกาลที่ 6 ซึ่งนอกจากใช้น้ำเบญจคงคา น้ำปัญจมหานที และน้ำทั้ง 4 สระจากสุพรรณบุรีแล้ว ยังได้ตักน้ำจากแหล่งอื่นๆ และแม่น้ำตามมณฑลต่างๆ ที่ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญและเป็นสิริมงคล มาตั้งทำพิธีเสกน้ำพุทธมนต์ ณ พระมหาเจดียสถานที่เป็นหลักพระมหานครโบราณ 7 แห่ง

แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์

ได้แก่ 1.แม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ ทำพิธีเสกน้ำที่พระพุทธบาท โดยใช้น้ำสรงรอยพระพุทธ ทำพิธีเสกน้ำด้วย ทั้งนี้ ถือว่าพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรีเป็นปูชนียสถานที่สำคัญในมณฑลที่เป็นที่ตั้งของเมืองละโว้และกรุงศรีอยุธยา

2.น้ำที่ทะเลแก้วและสระแก้ว เมืองพิษณุโลก และน้ำจากสระสองห้อง ทำพิธีที่พระวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก ปูชนียสถานที่สำคัญของหัวเมืองฝ่ายเหนือ

3.น้ำที่กระพังทอง กระพังเงิน กระพังช้างเผือก กระพังไพยสี โซกชมพู่ น้ำบ่อแก้ว น้ำบ่อทอง แขวงเมืองสวรรคโลก ทำพิธีในวิหารวัดพระมหาธาตุ เมืองสวรรคโลก ปูชนียสถานที่สำคัญมาแต่ครั้งสมเด็จพระร่วงเจ้าในสมัยสุโขทัย

 

4.ตักน้ำในแม่น้ำนครชัยศรีที่ตำบลบางแก้ว น้ำกลางหาวบนองค์พระปฐมเจดีย์ น้ำสระพระปฐมเจดีย์ น้ำสระน้ำจันทร์ ทำพิธีที่พระปฐมเจดีย์ ปูชนียสถานที่สำคัญตั้งแต่สมัยทวารวดี

5.น้ำที่บ่อวัดหน้าพระลาน บ่อวัดเสมาไชย บ่อวัดเสมาเมือง บ่อวัดประตูขาว ห้วยเขามหาชัย และ น้ำบ่อปากนาคราช ตั้งทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุ ปูชนียสถานที่สำคัญในจังหวัดนครศรีธรรมราช

6.น้ำที่บ่อทิพย์ เมืองนครลำพูน ตั้งทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุหริภุญไชย ปูชนียสถานที่สำคัญในหัวเมืองฝ่ายเหนือ คือ นครหริภุญไชย นครเขลางค์ นครเชียงแสน นครเชียงราย นครพะเยา และนครเชียงใหม่

และ 7.น้ำที่บ่อวัดพระธาตุพนม ทำพิธีเสกน้ำที่วัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม มณฑลอุดร ปูชนียสถานที่สำคัญของเมืองโคตรบูรณ์ในสมัยโบราณ (ภาคอีสาน)

และยังได้ตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปตั้งทำพิธีเสกน้ำ ณ วัดสำคัญในมณฑลต่างๆ อีก 10 มณฑล คือ

1.วัดบรมธาตุ และวัดธรรมามูล จังหวัดชัยนาท มณฑลนครสวรรค์ 2.น้ำสระมหาชัย น้ำสระหินดาษ ทำพิธีเสกน้ำที่วัดยโสธร เมืองฉะเชิงเทรา มณฑลปราจีนบุรี 3.น้ำสระแก้ว น้ำสระขวัญ น้ำธารปราสาท น้ำสระปักธงชัย ทำพิธีเสกน้ำที่วัดพระนารายณ์มหาราช (เดิมชื่อวัดกลาง) นครราชสีมา มณฑลนครราชสีมา 4.น้ำท่าหอชัย น้ำกุดศรีมังคละ น้ำกุดพระฤๅชัย ทำพิธีเสกน้ำที่วัดศรีทอง เมืองอุบลราชธานี มณฑลอีสาน 5.น้ำสระแก้ว น้ำธารนารายณ์ ทำพิธีเสกน้ำที่วัดพลับ เมืองจันทบุรี มณฑลจันทบุรี

แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์

6.ตักน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญที่อำเภอต่างๆ มาทำพิธีที่วัดพระธาตุ เมืองไชยา มลฑลชุมพร 7.น้ำสระวังพลายบัว น้ำบ่อทอง น้ำบ่อไชย น้ำบ่อฤๅษี น้ำสระแก้ว มาทำพิธีเสกน้ำที่วัดตานีนรสโมสร เมืองตานี มณฑลปัตตานี 8.น้ำเขาโต๊ะแซะ น้ำเขาต้นไทร ทำพิธีเสกน้ำที่วัดพระทอง เมืองถลาง มณฑลภูเก็ต 9.วัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ มณฑลเพชรบูรณ์ และ 10.วัดพระมหาธาตุ เมืองเพชรบุรี มณฑลราชบุรี รวมสถานที่ทำน้ำอภิเษก 17 แห่ง และน้ำอภิเษกนี้ยังคงใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจนกระทั่งทุกวันนี้

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกที่หัวเมืองมณฑลต่างๆ รวม 18 แห่ง ซึ่งสถานที่ตั้งทำน้ำอภิเษกในรัชกาลนี้ใช้สถานที่เดียวกันกับในสมัยรัชกาลที่ 6 เพียงแต่เปลี่ยนจากวัดมหาธาตุเมืองเพชรบูรณ์ มาตั้งที่พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ และเพิ่มอีกหนึ่งแห่งที่พระลานชัย จังหวัดร้อยเอ็ด ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้นำน้ำตามมณฑลต่างๆ 18 แห่ง เช่นเดียวกันกับในสมัยรัชกาลที่ 7 แต่เปลี่ยนสถานที่จากพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ มาตักน้ำบ่อแก้ว และทำพิธีเสกน้ำที่พระธาตุ แช่แห้ง ปูชนียสถานสำคัญในจังหวัดน่านแทน

อาจกล่าวได้ว่าน้ำถือเป็นสิ่งสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่นับถือพระอิศวร ซึ่งพระองค์ประทับ ณ เขาไกรลาส เชื่อกันว่าน้ำที่มาจากเขานี้เป็นน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์ จึงนำมาประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ เพื่อแสดงถึงการมีอำนาจเป็นผู้ปกครองอย่างสมบูรณ์แบบ ถึงแม้ว่าการนำน้ำจากปัญจมหานทีเป็นไปได้ยากมากในอดีต ก็มีการหาแหล่งน้ำที่สำคัญๆ เพื่อใช้แทนดังกล่าว

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน