คอลัมน์ -ข่าวสดสุขภาพ

รายงานพิเศษ

โรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีผู้ป่วยที่มีอาการหอบรุนแรงเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินมากกว่าล้านคนในแต่ละปี และต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลมากกว่าแสนรายต่อปี

รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย เปิดเผยว่า ในปัจจุบันโรคหืดสามารถควบคุมได้ นั่นคือโรคหืดสามารถรักษาให้อาการดีขึ้นและหายจากอาการหอบได้

“หรือจะพูดว่าโรคหืดปัจจุบันไม่จำ เป็นต้องหอบอีกต่อไป และผู้ป่วยบางรายสามารถหยุดใช้ยาและดำรงชีวิตได้อย่างปกติ ที่เรียกว่าโรคสงบ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าหาย”

แต่ปัญหาคือ ผู้ป่วยโรคหืดส่วนมาก ไม่เคยได้รับการตรวจคัดกรองโรคหอบหืดตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งเป็นระยะที่สามารถรักษาให้หายได้ และไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยการรักษาต้องใช้ยาพ่นสเตียรอยด์เป็นเวลานานหลายปี และติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยและญาติ หรือผู้ดูแลเป็นอย่างดี จะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล และเสียชีวิตได้

โครงการเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2547 ด้วยความตั้งใจที่จะพัฒนา โรงพยาบาลทั่วประเทศที่ไม่ได้มีแพทย์เฉพาะทาง ให้สามารถ ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง ได้มาตรฐานในระดับสากล

โดยตั้งเป้าหมายให้อัตราการเข้าพักรักษาในโรงพยาบาลเข้าใกล้ศูนย์ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเครือข่ายที่มีคลินิกโรคหืดแบบง่าย 1,374 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งในโรงพยาบาลชุมชนที่ห่างไกล ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 98 โรงพยาบาล ในปี 2551 ทำให้ผู้ป่วยในภูมิภาคสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดอัตราการกำเริบรุนแรง จนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกว่า 29%

ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายมุ่งเน้นในการส่งเสริมให้ผู้ป่วยโรคหืด ในทุกพื้นที่ ทั่วประเทศกว่า 3 ล้านคนให้ได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐานเดียวกัน ครบทุกขั้นตอนอย่างมีคุณภาพทั่วประเทศ โดยไม่จำเป็นต้อง เดินทางเข้ามาในเมืองใหญ่ ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของเครือข่ายที่พยายาม ผลักดันแผนงาน การรักษาโรคหืด จาก โรงพยาบาลชุมชนเข้าไปให้ถึงระดับตำบล โดยมีทีมแพทย์ออกไปเยี่ยมผู้ป่วยและให้ คำแนะนำถึงชุมชน

ทำให้สามารถลดอัตราความรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาและนอนโรงพยาบาลลงกว่า 29% ซึ่งจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ถือเป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จครั้งสำคัญของเครือข่าย ที่สามารถดำเนินการตามเป้าหมายได้เป็นผลสำเร็จ

รศ.นพ.วัชรากล่าวปิดท้ายว่า นอกจากนี้ได้ยังเล็งเห็นถึงปัญหาและความสำคัญในการจัดการระบบฐานข้อมูลผู้ป่วย จึงได้พัฒนา EACC Health Card เปรียบเสมือน OPD Card ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลระดับบุคคลที่เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลเครือข่าย และข้อมูล 43 แฟ้มของสำนักงานสาธารณสุขผ่านระบบอินเตอร์เน็ต โดย ผู้ป่วยสามารถนำบัตรนี้ไปใช้ได้ทั่วประเทศ สะดวกต่อการรักษาเนื่องจากได้ข้อมูลที่ละเอียดครบถ้วน

ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย ยังเป็นประโยชน์ต่อสถาบันทางการแพทย์ที่จะนำข้อมูลไปใช้ในการทำวิจัย อีกทั้ง ยังสามารถแก้ปัญหาและพัฒนาการดูแลผู้ป่วย

รวมถึงกำหนดนโยบายในการดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน