อย่าให้สูงวัยล้ม-เดี๋ยวไม่ลุก

รณรงค์ลูกหลานร่วมป้องกัน

อย่าให้สูงวัยล้ม – เนื่องในวันผู้สูงอายุ 13 เมษายนนี้ ..กรุงเทพ ร่วมรณรงค์ ให้บุตรหลานช่วยกันระวังอย่าให้สูงวัย ล้ม เดี๋ยวไม่ลุก ปัญหาที่พบบ่อยของผู้สูงอายุที่ได้รับอุบัติเหตุภายในบ้าน คือ กระดูกสะโพกแตกหัก และอุบัติเหตุทางสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีอัตราความพิการและอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง

อย่าให้สูงวัยล้ม

อย่าให้สูงวัยล้ม

นพ.เอกกิตติ์ สุรการ ผอ.ศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ ..กรุงเทพ กล่าวว่า การบาดเจ็บปัญหาพบบ่อยในผู้สูงอายุที่ได้รับอุบัติเหตุพลัดตกหกล้มส่วนมากคือ กระดูกสะโพกหัก ศีรษะได้รับความกระทบกระเทือน เป็นสาเหตุทำให้พิการและมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง

อย่าให้สูงวัยล้ม

นพ.เอกกิตติ์ สุรการ

อย่าให้สูงวัยล้ม

สาเหตุอุบัติเหตุพบบ่อยในผู้สูงอายุคือ การหกล้ม เช่น ลื่นล้มในห้องน้ำ การตกเตียง ตกบันได มักเกิดกับผู้สูงอายุ 65-75 ปี อันตรายที่สำคัญ คือ การบาดเจ็บร่วมกันในหลายอวัยวะ ได้แก่ ศีรษะ อก ท้อง หลัง สะโพก แขน ขา ประกอบกับผู้สูงวัยมักมีโรคประจำตัว มวลกระดูกลดลง ทำให้กระดูกจะหักง่าย และรุนแรงกว่า

การปฐมพยาบาลเมื่อผู้สูงอายุล้ม ต้องประเมินการบาดเจ็บที่เป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น ภาวะช็อก บาดเจ็บที่สมอง และไขสันหลัง แล้วจึงประเมินการบาดเจ็บที่พบบ่อย เช่น สะโพกหัก และต้องป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นขณะอุ้ม ยก เคลื่อนย้ายส่งโรงพยาบาล

เมื่อทีมรถฉุกเฉินประเมินอาการ และดูแลเบื้องต้น จะประสานงานมาที่แพทย์ฉุกเฉิน เพื่อเตรียมดูแลการรักษาผู้บาดเจ็บขั้นสูง ผู้สูงอายุที่มีการบาดเจ็บหลายระบบต้องมีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางร่วมดูแล

นพ.ประณต นิพัทธสัจก์ ศัลยแพทย์สมองและระบบประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาทกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งที่อาจพบได้จากการหกล้มของผู้สูงอายุคือ การบาดเจ็บที่ศีรษะ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเลือดคั่งในสมองที่สูงขึ้น

โดยการแสดงอาการที่มีอาจไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงที่ได้รับ อาจเกิดการบาดเจ็บต่อหนังศีรษะ กะโหลกศีรษะและเนื้อเยื่อที่เป็นส่วนประกอบภายในกะโหลกศีรษะ ซึ่งอาจทำให้มีหรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึกตัว

นอกจากนี้บางรายรับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น warfarin (coumadin), clopidogrel (plavix)ซึ่งทำให้เลือดออกไม่หยุดเมื่อเกิดบาดเจ็บ มีความเสี่ยงให้เกิดสมองกระเทือน หรือสมองช้ำ มีเลือดคั่งในกะโหลกศีรษะได้ ผู้สูงอายุที่ได้รับการบาดเจ็บที่ศีรษะจึงควรได้รับการตรวจประเมินจากแพทย์โดยเร็ว

ลูกหลานควรตรวจประเมินความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุ คอยสังเกตอาการ ความผิดปกติการมองเห็น อาการและความผิดปกติการเดิน การทรงตัว เนื่องจากผู้สูงอายุมีกลไกการทำงานที่ควบคุมการทรงตัวระบบอวัยวะต่างๆ ลดลง ทำให้สมดุลการทรงตัวบกพร่อง

สังเกตอาการและความผิดปกติทางด้านการรับรู้ เช่น สับสน หลงลืมเกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่ และบุคคล เป็นต้น รวมทั้งมีการรับรู้ ตัดสินใจ หรือตอบสนองได้ช้าลง หมั่นคอยประเมินสภาพบ้านที่อยู่อาศัย ทั้งในบ้านและบริเวณบ้าน

ในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุในบ้านควรระมัดระวัง ทันทีที่ล้มควรพามาพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กว่ากระดูกหักหรือไม่ และสมองได้รับการ กระทบกระเทือนหรือไม่ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

หากมีศีรษะกระแทกและไม่รู้สึกตัว ให้นอนในท่าเดิมและเรียกรถพยาบาล แต่ถ้าผู้ป่วยรู้ตัวดีและมีอาการปวดต้นคอร่วมด้วยให้นอนราบไม่หนุนหมอน เรียกรถพยาบาล พยายามขยับผู้ป่วยให้น้อยที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน