เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ (ตอนจบ)

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดยน้าชาติ ประชาชื่น

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ (ตอนจบ) – ฉบับวานนี้ (9 เม.ย.) “หนูจิง” อยากรู้ประวัติจัดสร้างเครื่องเบญจราชกกุธ ภัณฑ์ 5 องค์ ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกรชัยพฤกษ์ วาลวิชนี ฉลองพระบาทเชิงงอน และแต่ละองค์มีความหมายอย่างไร

เมื่อวานว่าด้วยประวัติและเครื่องราชกกุธภัณฑ์องค์แรกคือพระมหาพิชัยมงกุฎไปแล้ว โดยคำตอบนำมาจากหนังสือ “เสวยราชสมบัติกษัตรา” เขียนโดย ดร.นนทพร อยู่มั่งมี, ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ สนพ.มติชน วันนี้เสนอต่ออีก 4 องค์

“พระแสงขรรค์ชัยศรี” ประวัติกล่าวว่า เมื่อพ.ศ.2327 ชาวประมงเมืองเสียมราฐทอดแหในทะเลสาบเขมรและได้พระแสงขรรค์นี้ขึ้นมา กรมการเมืองได้นำพระขรรค์ไปมอบให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองและเสียมราฐในขณะนั้น เจ้าพระยาอภัยภูเบศรจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 1 ซึ่งพระราชทานนาม พระแสงขรรค์ชัยศรี

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์








Advertisement

จากเรื่องที่เล่ากันว่า เมื่อวันที่อัญเชิญพระแสงขรรค์มายังพระบรมมหาราชวังนั้น เกิดพายุอย่างหนัก มีอสนีบาต หรือฟ้าผ่าตกที่ประตูวิเศษชัยศรีและประตูพิมานชัยศรีขณะที่อัญเชิญพระแสงขรรค์ผ่านเข้าไป จึงพระราชทานนามดังกล่าว และโปรดเกล้าฯ ให้ช่างหลวงทำด้ามและฝักขึ้นใหม่ ทำด้วยทองคำลงยาลายเทพนมประดับอัญมณี โคนพระแสงที่ต่อกับด้ามสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑคร่ำทอง

พระแสงขรรค์ชัยศรีเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงพระราชอำนาจ ความกล้าหาญ และพระราชอาญาสิทธิ์ในการปกครองแผ่นดิน

“ธารพระกรชัยพฤกษ์” หรือ ไม้เท้า ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ด้ามยาวกลึงเป็นแท่ง ลงรักปิดทอง ส่วนหัวกลึงเป็นรูปหัวเม็ด ส่วนส้นเป็นเหล็กคร่ำทอง ปลายส้นเป็นสามแฉกคล้ายส้อม มีลักษณะเหมือนไม้เท้าของพระภิกษุที่ใช้ชักบังสุกุล

รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระราชทานนามว่า ธารพระกรชัยพฤกษ์ ต่อมาในรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างธารพระกรขึ้นใหม่อีกองค์หนึ่ง ทำด้วยทองคำ ยอดทำเป็นรูปเทวดา เรียกว่า ธารพระกรเทวรูป เมื่อชักยอดออกจากธารพระกรจะกลายเป็นพระแสงเสน่า หรือมีดสั้นปลายแหลม ด้ามหนัก ใช้สำหรับขว้าง ธารพระกรเทวรูปจึงมีลักษณะเป็นพระแสงอาวุธในองค์เดียวกัน ทรงใช้แทนธารพระกรชัยพฤษ์สืบมา

กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้นำเอาธารพระกรชัยพฤกษ์มาใช้ตามเดิม เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศแห่งองค์สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ นับแต่นั้นมาจึงใช้ธารพระกรชัยพฤกษ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตราบจนสมัยรัชกาลที่ 9

ธารพระกรอาจมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ทรงบริหารแผ่นดินด้วยความสุขุมคัมภีรภาพดังผู้มีวัยวุฒิและทรงคุณธรรม และยังเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการทรงมีพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์

“วาลวิชนี” ประกอบด้วย 2 คำ คือ วาล แปลว่า ขนสัตว์ หรือ หางสัตว์ และ วิชนี แปลว่า พัด วาลวิชนีจึงหมายถึงพัดทำด้วยขนสัตว์ แต่วาลวิชนีซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์สมัยรัตนโกสินทร์ เป็นพัดใบตาลปิดทอง เรียกอีกอย่างว่า พัชนีฝักมะขาม อาจเป็นเพราะด้ามที่มีความยาวและแบน ส่วนปลายงอโค้งเล็กน้อยคล้ายฝักมะขาม ด้ามและเครื่องประกอบเป็นทองคำลงยา

ต่อมารัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระแส้ขนหางจามรีขึ้นอีกองค์หนึ่งสำหรับเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ด้ามเป็นแก้วเจียระไนประกอบด้วย ทองคำลงยา ด้วยมีพระราชดำริว่าการใช้พัดใบตาลนั้นไม่ถูกต้อง เพราะคำว่า วาล แปลว่า ขนของจามรี ต่อมาจึงได้นำทั้งพัดและพระแส้มาใช้ด้วยกัน เรียกรวมกันว่า วาลวิชนี

วาลวิชนีเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความหมายว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้พัดพาความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ราษฎร ปัดเป่าสิ่งอวมงคลและผองภัยทั้งมวลให้สูญสลายไปจากประชาราษฎร์และราชอาณาจักร

“ฉลองพระบาทเชิงงอน” การกำหนดให้ฉลองพระบาทเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์นั้น สันนิษฐานว่าเป็นคติความเชื่อที่ได้รับมาจากอินเดีย ฉลองพระบาทเชิงงอนสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ทำด้วยทองคำลงยาทั้งองค์ ภายในบุกำมะหยี่ ปลายงอนเป็นตุ่มแหลมคล้ายดอกลำดวน ลักษณะเช่นนี้ปรากฏว่าชาวอาหรับหรือชาวเปอร์เซียและชาวอินเดียใช้กันเป็นประจำ โดยทำจากหนังสัตว์ คงมีใช้ในราชสำนักของไทยมานานแล้ว ดังปรากฏในภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยา

ฉลองพระบาทเชิงงอนเป็นของสำหรับประดับพระเกียรติยศขณะทรงเครื่องต้นประทับบนพระที่นั่งภัทรบิฐภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เป็นสัญลักษณ์แห่งการทรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพในทุกหนแห่งของพระราชอาณาจักรที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน