เยาวชนสร้างสรรค์ ‘ถ่านมีชีวิต’

แก้น้ำเสียรอบคูเมืองเชียงใหม่

คอลัมน์ ไอคิวทะลุฟ้า

เยาวชนสร้างสรรค์ ‘ถ่านมีชีวิต’ แก้น้ำเสียรอบคูเมืองเชียงใหม่ – ไม่เพียงปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ยังเผชิญกับมลพิษทางน้ำที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน

เยาวชนสร้างสรรค์ ‘ถ่านมีชีวิต’

เยาวชนในท้องถิ่นกลุ่มหนึ่งมองเห็นปัญหาดังกล่าวและไม่นิ่งดูดาย อยากเข้ามาช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นจนเกิดเป็นโครงการ “ถ่านมีชีวิต” โดย น.ส.นิพัทธา กาพย์ตุ้ม หรือ น้องปิ่นไพร โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จ.เชียงใหม่ เล่าว่า

“หลังจากที่หนูและเพื่อนเข้าค่ายโครงการ PTTEP Teenergy ของ ปตท.สผ. และเข้าร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อปภายใต้แนวคิดเปลี่ยนเพื่อโลก (Change for Climate) หนูคิดและนำเสนอโครงการถ่านมีชีวิตร่วมกับเพื่อนๆ โครงการนี้เป็น 1 ใน 10 โครงการที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนสนับสนุนจากค่าย หลังได้รับทุนหนูและทีมค้นคว้าศึกษางานวิจัยต่างๆ จนเกิดความคิดนำซังข้าวโพดมาแปรรูปเป็นถ่านด้วยวิธีการทางเคมีโดยการเผาแบบกึ่งอับอากาศหรือสภาวะไร้อากาศ (Pyrolysis) ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ได้รับการสนับสนุนการเผาและการศึกษาวิจัยจากคณะวิศวกรรมอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้”

เมื่อเห็นสภาพน้ำในคูเมืองเชียงใหม่เน่าเสีย น้องๆ จึงพยายามหาวิธีแก้ปัญหาและสังเกตเห็นว่าในขณะที่น้ำบริเวณคูเมืองเชียงใหม่เต็มไปด้วยสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน แต่ตะกอนดินบริเวณหน้าโรงเรียนกลับไม่มีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินอยู่เลย

เยาวชนสร้างสรรค์ ‘ถ่านมีชีวิต’

ทำถ่านจากซังข้าวโพด

จึงนำตะกอนดังกล่าวเข้าไปศึกษาในห้องทดลอง พบว่าในดินดังกล่าวมีแบคทีเรียสายพันธุ์บาซิลัสอยู่จำนวนมาก แบคทีเรียสายพันธุ์บาซิลัสนี้สามารถกำจัดสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินซึ่งนอกจากจะเป็นสาหร่ายที่ทำให้เกิดน้ำเสียแล้ว ยังเป็นสาหร่ายที่ผลิตสารพิษไมโครซิสตินซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดตับอักเสบและเร่งการเกิดมะเร็งตับ และมีผลโดยตรงต่อสัตว์น้ำหรือสัตว์บกที่ไปบริโภคน้ำที่มีสาหร่ายชนิดนี้ด้วย

ดังนั้นหากจะกำจัดสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดน้ำเสีย ก็จะต้องเพิ่มปริมาณแบคทีเรียสายพันธ์บาซิลัส น้องๆ จึงนำซังข้าวโพดที่เผาในสภาวะไร้อากาศแล้ว กลายเป็นถ่านจากซังข้าวโพด มีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ และมีรูพรุนจำนวนมาก อีกทั้งมีสารอาหารที่ทำให้เชื้อแบคทีเรียเติบโตได้ดีมาเพาะเพื่อเพิ่มจำนวนแบคทีเรียสายพันธุ์บาซิลัส

เยาวชนสร้างสรรค์ ‘ถ่านมีชีวิต’

ซังข้าวโพดแปรรูปเป็นถ่าน

เมื่อทดลองพบว่าแบคทีเรียสายพันธุ์บาซิลัสเติบโตได้ดีในถ่านที่ผลิตจากซังข้าวโพด และสามารถนำไปกำจัดสาหร่าย สีเขียวแกมน้ำเงินได้อย่างแน่นอนแล้ว จึงทดลองเพิ่มเติมให้แน่ใจโดยนำถ่านที่เพาะเชื้อแบคทีเรียซึ่งน้องๆ เรียกว่า “ถ่านมีชีวิต” เพราะมีแบคทีเรียซึ่งจัดเป็นสิ่งมีชีวิตจำนวนมากเติบโตอยู่ในนั้น

น้องๆ ทดลองนำถ่านมีชีวิตบรรจุในขวดพลาสติกเหลือใช้ แล้วนำไปจุ่มแช่ในน้ำตัวอย่างที่นำมาจากบริเวณรอบคูเมืองเชียงใหม่ในห้องทดลอง พบว่าการวางทิ้งไว้ 5 วัน แบคทีเรียสายพันธุ์บาซิลัสสามารถกำจัดสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินได้หมด ไม่เกิดน้ำเน่าเสีย

ในอนาคตทีมของน้องๆ คิดต่อยอดโครงการโดยนำถ่านมีชีวิตที่ผลิตได้ไปทดลองใช้จริงสำหรับการบำบัดน้ำบริเวณรอบคูเมืองเชียงใหม่ และจะนำผลการทดลองไปเผยแพร่ในชุมชนใกล้เคียงหรือชุมชนในบริเวณที่มีปัญหาน้ำเน่าเสีย

หากได้รับความร่วมมือจากชุมชนที่สนใจ เชื่อว่าโครงการถ่านมีชีวิตนี้จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยแก้ปัญหามลพิษในเมืองเชียงใหม่ได้ต่อไป

อ่าน : เก้าอี้เปลี่ยนโลก ลดปัญหาโลกร้อน : ไอคิวทะลุฟ้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน