ออฟฟิศซินโดรม โรคใกล้ตัวมนุษย์ออฟฟิศ

ออฟฟิศซินโดรม – มนุษย์ออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานในออฟฟิศทั้งวัน การนั่งทำงานเฉยๆ เป็นเวลานาน หรือการต้องยกของหนักซ้ำๆ เดิมๆ ไม่มีการออกกำลังกาย หรือขยับร่างกายเปลี่ยนอิริยาบถ จนเริ่มมีอาการปวดตามหลัง ไหล่ คอ ปวดหัว ปวดตา แล้วล่ะก็

อย่าได้มองข้าม เพราะอาการเหล่านี้ล้วนเป็นอาการของโรคออฟฟิศซินโดรมซึ่งถ้าไม่บำบัดรักษา หรือป้องกันตั้งแต่ต้น ก็อาจกลายเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพในภายหลังได้

ออฟฟิศซินโดรม

พญ.สุคนธมาศ เสรีสิทธิธรรม

พญ.สุคนธมาศ เสรีสิทธิธรรม แพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.พระรามเก้า กล่าวว่า สาเหตุของโรคออฟฟิศซินโดรมเกิดจากการนั่งทำงานในอิริยาบถเดิมนานๆ และไม่มีการยืด ขยับปรับเปลี่ยนท่าทาง เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือเกิดจากการนั่งจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป การเพ่งใช้สายตามากๆ บวกกับรังสีจากจอภาพ ทำให้เกิดอาการปวดหัวปวดตาได้

รวมถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น ออฟฟิศแออัด อากาศไม่ถ่ายเท โต๊ะเก้าอี้ไม่เหมาะกับสรีระ เป็นต้น

นอกจากนี้การทำงานที่หนักเกินไป จนทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อน บวกกับสังคมในที่ทำงานเป็นพิษ ทำให้เกิดความเครียดสะสม

ออฟฟิศซินโดรม

พญ.สุคนธมาศกล่าวเตือนว่า สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างยิ่ง และหากปล่อยไว้โดยไม่รักษา หรือไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายตามมา เช่น เสี่ยงต่อการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังคด และแขนขาอ่อนแรง ถ้ารุนแรงมากอาจทำให้กล้ามเนื้อหด ยึด ตึง เสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า อันมาจากความเครียด ความกดดัน และบรรยากาศไม่ดีในที่ทำงาน

นอกจากนี้ โรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง จากการทานอาหารจุบจิบในเวลาทำงาน และไม่มีเวลาออกกำลังกาย ก็ยังส่งเสริมให้อาการของออฟฟิศซินโดรมแย่ลงด้วย

พญ.สุคนธมาศกล่าวอีกว่า การรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมเริ่มต้นได้จากตัวเอง เช่น หากเริ่มรู้สึกเมื่อยล้า ควรพักการทำงานเพื่อผ่อนคลายร่างกายและสมอง เช่น ลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย เดินไปสูดอากาศด้านนอกบ้าง ไม่ควรนั่งทำงานติดกันนานเกินไป และหมั่นออกกำลังกาย เพื่อยืดและคลายกล้ามเนื้อ

เช่น โยคะ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน นอกจากจะช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ป้องกันเอ็นและข้อยึดแล้ว ยังช่วยผ่อนคลายความเครียด และเสริมภูมิต้านทานให้ร่างกายได้อีกด้วย

นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น เปลี่ยนโต๊ะและเก้าอี้ให้เหมาะกับสรีระ ทำความสะอาดออฟฟิศ ให้โล่งและอากาศถ่ายเทมากขึ้น ก็ช่วยให้บรรยากาศในการทำงานผ่อนคลายขึ้น

ออฟฟิศซินโดรม

หากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแล้วอาการปวดกล้ามเนื้อยังไม่ดีขึ้น ปวดเรื้อรัง ปวดจนนอนไม่หลับ ทำงานไม่ได้ มีแขนขาอ่อนแรง ควรรีบปรึกษาแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อรับการตรวจประเมินรักษาด้วยยา และการกายภาพบำบัดร่วม 3-7 ครั้ง แล้วแต่สาเหตุและความรุนแรงของโรค

อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่แน่ใจว่ากำลังเผชิญอาการออฟฟิศซินโดรม หรือเป็นการปวดทั่วๆ ไป เนื่องจากปวดเหมือนกัน แต่สาเหตุ ต่างกัน

หากดูแลตัวเองแล้วไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจประเมินและรักษาป้องกันเพื่อไม่ให้กลายเป็นโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง เพราะจะทำให้สุขภาพทั้งกายและจิตใจแย่ลง และใช้ระยะเวลาในการรักษาที่นานมากขึ้นด้วยพญ.สุคนธมาศกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน