ม.มหาสารคามแชมป์สตอรี่บอร์ด วางแผนการเงิน..‘อย่าได้แต่ขอ’

คอลัมน์ ไอคิวทะลุฟ้า

เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินให้ น้องๆ นักศึกษา รู้จักการบริหารจัดการเงินและ หนี้สินอย่างชาญฉลาดในยุคสังคมดิจิตอล เป็นที่มาของกิจกรรม Umay+ MONEY FITNESS การประกวดสตอรี่บอร์ด เพื่อนำไป ผลิตหนังสั้น ภายใต้หัวข้อ “โลกเปลี่ยนไป ต้องวางแผนการเงินยังไง รู้ยัง?” ชิงทุนการศึกษารวมกว่า 150,000 บาท

ไอคิวทะลุฟ้า

ในปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 170 ผลงาน ก่อนคัดเลือกเหลือ 10 ทีมสุดท้าย พร้อมมอบประสบการณ์เข้าร่วมกิจกรรม เวิร์กช็อปเรียนรู้การเป็นนักเล่าเรื่องที่ดี ฝึกการผลิตหนังสั้นอย่างมืออาชีพ ก่อนเข้านำเสนอผลงานและประกาศผลทีมผู้ชนะเลิศ ภายในงานได้รับเกียรติจากคณะกรรมการ โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับฯ และนักแสดง อาทิ อู๋ วีรยุทธ ล้อทอง พานิชย์, กอล์ฟ จิรายุ อาจสำอางค์, เสือ พิชยจรัส บุญประชา และนักแสดง ก้อย รัชวิน วงศ์วิริยะ เข้าร่วมงานและเป็นคณะกรรมการตัดสิน ที่ห้องเธียเตอร์ ชั้น 3 อาคาร 11 มหาวิทยาลัยศรีปทุม บางเขน เมื่อไม่นานนี้

รางวัลชนะเลิศ รับเงินรางวัลทุนการศึกษา 100,000 บาท ได้แก่ ทีมลงมือทำ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เจ้าของไอเดีย “อย่าได้ แต่ขอ” แรงบันดาลใจจากพฤติกรรมคนไทย เดือดร้อนอะไรก็ได้แต่ยกมือภาวนา ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยไม่ลงมือทำหรือวางแผนแต่แรก ด้านคณะกรรมการเผยเหตุชนะใจ เชื่อว่าไอเดีย เล็กๆ เหล่านี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคม ในเรื่องการบริหารจัดการเงินได้ดี

สำหรับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับหนึ่ง ทีมหมั่ง สีโสว มหาวิทยาลัยศิลปากร, รองชนะเลิศ อันดับสอง ทีม Titan มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, รางวัลชมเชย ทีม The 88 มหาวิทยาลัยนเรศวร และทีมแถ่นแท้น มหาวิทยาลัยนานาชาติสแตมฟอร์ด

ไอคิวทะลุฟ้า

ทีมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เผยว่า สตอรี่บอร์ดคือจุดเริ่มต้นของหนังสั้น ช่องความคิดที่จะถ่ายทอด ดูไอเดีย ดูภาพรวมจาก แผ่นกระดาษ คุยให้จบก่อนเริ่มถ่ายทำ เป็นเสมือนแนวทางให้ทุกคน ทุกฝ่าย รับรู้ว่าเราจะทำอะไร เรื่องอะไร ให้เห็นภาพกว้างๆ ก่อนถ่ายทำจริง ขั้นตอนนี้สำคัญมาก หลังจากนั้นยังมีอีกหลากหลายขั้นตอน เช่น การเขียนบท การหาไอเดีย สร้างองค์ประกอบหนัง ข้อควรระวังสำหรับการทำสตอรี่บอร์ดหนังสั้นคือระวังจมกับความคิดเดิมๆ อย่ากลัว การคิดไม่ออก กล้าปล่อยบทไปสู่สายตาคนอื่น อย่ากลัวถ้าต้องแก้ อย่าหวงถ้าต้องตัด “งานดีแล้ว” คือความคิดฝังหัวที่ต้องจำกัด สำหรับคนที่จะเป็นครีเอทีฟ ทุกงานตั้งอยู่บนโจทย์อยู่แล้ว ถ้าหลายคนพูดเหมือนกันหมด แสดงว่า เรามีจุดรั่วที่ต้องแก้ต้องปรับ แต่เราต้องไม่ลืมจุดยืนของเรา ในปีนี้ ยอมรับว่าน้องๆ ทุกทีมเก่งและมีความสามารถ

ไอคิวทะลุฟ้า

ผลงานที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 10 ทีม ประกอบด้วย ทีมแซลมอน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ชื่อผลงานถังแตก, ทีม Four Eye มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ชื่อผลงาน Gamer, ทีมเขี้ยวกุด มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ชื่อผลงาน Relationship, ทีมผังผัง ทีเอ็ม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ชื่อ ผลงาน น้ำตาไก่ชน, ทีมหมั่งสีโสว มหาวิทยาลัย ศิลปากร ชื่อผลงาน โจร 400, ทีม Titan มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ชื่อผลงาน Survival, ทีม UMU มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ชื่อผลงาน ชีวิตนักสะสม, ทีม The 88 มหาวิทยาลัยนเรศวร ชื่อผลงาน Start, ทีมแถ่นแท้น มหาวิทยาลัยนานาชาติสแตม ฟอร์ด ชื่อผลงาน ไหสองใบ, ทีมลงมือทำ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชื่อผลงานสมใจปรารถนา เกณฑ์การตัดสินแบ่งออกเป็น พล็อต เรื่องตรงประเด็น ความคิดสร้างสรรค์ รูปแบบความน่าสนใจ และเทคนิคการนำเสนอ

ติดตามผลงานหนังสั้นรางวัลชนะเลิศที่ www.umayplusmoneyfitness.com และ เฟซบุ๊ก I love EASY BUY

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน