คอลัมน์ ข่าวสดหรรษา

โสรายา สาเรป

ภาคใต้ไทยนอกจากความสวยงามของทะเลอ่าวไทย และทะเลอันดามันแล้ว ธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพรก็น่าเที่ยวชมไม่น้อย เมื่อเร็วๆ นี้ อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ร่วมกับเทศบาลตำบลบาเจาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เปิดตัวเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยเฉพาะ “ผีเสื้อ” ที่มีมากมายกว่า 80 ชนิด เป็นหนึ่งในดัชนี ชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติของผืนป่า

อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านปาโจ ต.บาเจาะ ภายในอุทยานมีน้ำตกปาโจ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดของใบไม้สีทอง หรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “ย่านดาโอะ” มีแห่งเดียวในประเทศไทย

ที่สำคัญด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ยังเป็นแหล่งอาศัยนกเงือก 6 ชนิด รวมถึงพันธุ์ผีเสื้อกว่า 80 ชนิด นับว่าเป็นผืนป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในวันเปิดตัวโครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีเยาวชนและนักเรียนในพื้นที่ อ.บาเจาะ มาร่วมกันคับคั่งและคึกคัก โดยเฉพาะกิจกรรมดูผีเสื้อตามเส้นทางธรรมชาติบริเวณน้ำตกปาโจ

นายสิทธิชัย หมัดสี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี กล่าวถึงการจัดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศชมผีเสื้อ ว่าในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก เราต้องการจัดให้มีกิจกรรมชมผีเสื้อที่อยู่ในเขตอุทยาน มีผีเสื้อหลากหลายสายพันธุ์รวมกว่า 80 ชนิด รวมถึงผีเสื้อหายากด้วย อาทิ ผีเสื้อหนอนกลอยสีฟ้า พบได้เฉพาะในพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นที่นิยมของนักชมผีเสื้อ

นอกจากชมผีเสื้อหายากแล้ว ที่อุทยานยังมีนกเงือกมากถึง 6 ชนิด จาก 13 ชนิดที่มีอยู่ในประเทศไทย สามารถมาชมนกเงือกได้ และยังเป็นที่ตั้งของน้ำตกปาโจ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกด้วย ผู้สนใจที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สามารถเดินทางมาเที่ยวชมได้ตลอดทั้งปี โดยสอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวได้ที่อุทยานแห่งชาติ บูโด-สุไหงปาดี

ขณะที่ นายสนธยา กาญจนะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ อุทยานแห่งชาติบูโดฯ ร่วมให้ข้อมูลว่า อุทยานมีเนื้อที่ 294 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นพื้นที่ลักษณะป่าดิบร้อน มีความชื้นสูง และมีฝนตกตลอดทั้งปี

ปัจจุบันมีผีเสื้อหลากหลายสายพันธุ์อยู่รวมกัน

ซึ่งผีเสื้อส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นป่าและตามแหล่งน้ำจืด สำหรับพื้นที่บริเวณน้ำตาปาโจ ในเขตอุทยานแห่งชาติบูโดฯ เป็นน้ำตก 7 ชั้น

โดยในทุกๆ ชั้นจะพบผีเสื้อแตกต่างสายพันธุ์ โดยรอบบริเวณป่าและน้ำตก ตามเส้นปกติและเส้นทางเดินป่าจะพบเห็นผีเสื้อหลายชนิด ที่บินวนและเกาะกิ่งไม้ เป็นภาพผีเสื้อที่มีสีสันความสวยงามตามธรรมชาติ

นายสนธยานับเป็นหนึ่งใน ผู้สนใจผีเสื้อ บอกด้วยว่าในการค้นหาวิจัยผีเสื้อในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโดฯ ตลอดระยะ 2 ปีที่ผ่านมา เราเก็บข้อมูลผีเสื้อหลากหลายชนิดอาศัยในพื้นป่าแห่งนี้ กว่า 80 ชนิด และยังพบพันธุ์ผีเสื้อหายาก อาทิ ผีเสื้อท้ายขาวปุยหิมะ ผีเสื้อเจ้าหญิงสีฟ้า ผีเสื้อแหวนมลายู

อีกชนิดที่สำคัญคือ ผีเสื้อหนอนกลอยสีฟ้า ทั้งหมดถือเป็นผีเสื้อที่หายาก และในตำราหนังวิจัยผีเสื้อ พบว่ามีอยู่ที่อุทยานแห่งชาติบางสีดา จ.สระแก้ว และที่อุทยานแห่งชาติบูโดฯ แห่งนี้ พบผีเสื้อหนอนกลอยสีฟ้าเป็นจำนวนมาก เป็นแหล่งที่ 2 ในประเทศไทย

สนธยาบอกว่า ผีเสื้อหนอนกลอยสีฟ้า มีความสำคัญต่อการวิจัยมาก เพราะผีเสื้อชนิดนี้เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของป่าธรรมชาติ และความอุดมสมบูรณ์ในระบบนิเวศ

สำหรับผู้ที่สนใจจะดูผีเสื้อบริเวณ อุทยานบูโด-สุไหงปาดี แห่งนี้ ควรเลือกเวลาที่เหมาะสมในการดู ประมาณ 09.00-15.00 น. เป็นเวลาที่มีแดด จะทำให้พบผีเสื้อหลากหลายสายพันธุ์ รวมถึงพันธุ์หายากด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน