อีสป ตอนแรก : รู้ไปโม้ดโดยน้าชาติ ประชาชื่น

อีสป ตอนแรก : รู้ไปโม้ดโดยน้าชาติ ประชาชื่น

มะนาวหวาน

ตอบ มะนาวหวาน

คำตอบนำมาจากบทความ “ย้อนประวัติ “อีสป” ผู้แต่งนิทานโด่งดัง กับคติ สอนใจ ทรราชย่อมหาเหตุแห่งการทรราชได้เสมอ” เว็บไซต์ www.silpa-mag.com ว่า อีสป (Aesop) เป็นทาสชาวกรีกผู้แต่งนิทานอีสปที่ได้รับความนิยมทั่วโลกมาหลายยุคหลายสมัยยาวนานนับพันปี ประวัติของอีสปมีความคลุมเครือในหลายประเด็น เพราะขาดการบันทึกที่แน่ชัดและมีหลายทฤษฎีด้วยกัน โดยเฉพาะเรื่องบ้านเกิดของเขา นักวิชาการลงความเห็นกันว่า

อีสป

เขาน่าจะเกิดในช่วง 620 ก่อนคริสตกาล และเป็นทาสโดยกำเนิด นายทาสของอีสปเป็น ชาวเกาะซาโมส (Samos) คนแรกชื่อ Xanthus และคนที่สองชื่อ Jadmon ซึ่งเป็นผู้ที่ให้อิสรภาพเป็นรางวัลแก่อีสป เพราะเห็นแก่ความเป็นผู้ที่มีไหวพริบและสติปัญญาล้ำเลิศ

บ้านเกิดของอีสป มีหลายสันนิษฐานที่เป็นไปได้คือ 1.เมืองซาร์ดิซ (Sardis) เมืองหลวงของราชอาณาจักรลีเดีย (Lydia) บนแผ่นดินใหญ่ด้านตะวันตกของดินแดนอนาโตเลีย หรือที่เรียกว่าเอเชียไมเนอร์ 2.เกาะซาโมส ในทะเลอีเจียน ปัจจุบันอยู่ใกล้กับชายฝั่งตุรกี 3.เมือง Mesembria ในเขตเทรซ (Thrace) บริเวณชายฝั่งของบัลแกเรียในปัจจุบัน 4.เมือง Cotiaeum ในจังหวัด Phrygia บนดินแดนอนาโตเลีย








Advertisement

แม้จะไม่สามารถระบุได้ชัดว่า ที่ใดคือบ้านเกิดของอีสป แต่ดินแดนที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนแต่เป็นดินแดนที่ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมกรีก ในช่วงชีวิตของอีสปนั้นคาดว่าตรงกับยุคอาร์เคอิก และเป็นช่วงที่การปกครองระบอบกษัตริย์เริ่มเสื่อมสลาย ขณะที่การปกครองแบบนครรัฐเริ่มพัฒนามากยิ่งขึ้น ซึ่ง จะค่อยๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคกรีกถัดมา คือยุคคลาสสิค

อีสป

ช่วงขณะนั้นเมืองต่างๆ อยู่ใต้อำนาจปกครองของผู้นำแบบผูกขาดอำนาจไว้คนเดียว เรียกว่า “ทรราช” ซึ่งหมายถึงผู้ปกครองที่โหดร้ายกดขี่ประชาชน หรือผู้ปกครองที่ยึดอำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือสืบทอดอำนาจ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมกรีกจึงมีพัฒนาการด้านประชาธิปไตยไปเป็นแบบนครรัฐ

นครรัฐกรีกจะให้สิทธิพิเศษแก่เสรีชน คืออนุญาตให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะได้อย่างเสรี นั่นจึงทำให้อีสปใช้ความรู้ความสามารถในการช่วยเหลือผู้คน อีสปกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงเพราะเขาเล่านิทานอันเป็นที่เล่าขานไปทั่วดินแดน ต้องการสั่งสอนผู้คนและต้องการถูกสอนสั่งด้วยเช่นกัน เขาจึงเดินทางผจญภัยท่องไป ทั่วดินแดนต่างๆ เมื่อมาถึงเมืองซาร์ดิซ เมืองหลวงของราชอาณาจักรลีเดีย และได้รับเชิญให้ไปทำงานในราชสำนักของกษัตริย์โครซุส (Croesus)

อีสปได้รับมอบหมายให้เป็นราชทูตปฏิบัติหน้าที่แทนกษัตริย์ในเมืองเล็กเมืองน้อยที่เป็นเมืองขึ้นในราชอาณาจักร เขาไปที่ใดก็มักใช้นิทานเล่าเรื่องกระตุ้นความคิดของชาวเมืองอย่างเฉลียวฉลาด และยังใช้นิทานประนีประนอมความขัดแย้งในเมืองต่างๆ

อีสป

อีสปเดินทางไปทั่วราชอาณาจักรในฐานะราชทูต ครั้งหนึ่งเขาถูกส่งไปยังเมืองเดลฟิ (Delphi) พร้อมกับทองคำจำนวนมากที่ได้รับคำสั่งให้นำไปแจกจ่ายให้ประชาชน แต่เกิดเหตุวุ่นวายจนชาวเมืองจับอีสปมาสำเร็จโทษในฐานะอาชญากรสาธารณะโดยมิได้หวาดกลัวว่าเขามีฐานะเป็นราชทูต บางทฤษฎีเสนอว่า อีสปเห็นประชาชนเกิดความโลภ เขาจึงปฏิเสธที่จะแจกจ่ายทองคำเหล่านั้นและนำทองกลับคืนราชสำนัก ชาวเมืองเดลฟิจึงโกรธแค้นอีสป กล่าวหาว่าเขาไร้ความซื่อสัตย์

อีกทฤษฎีเสนอว่าอีสปจะนำทองคำเหล่านั้นเก็บไว้กับตัวหรือไม่? สาเหตุการตายของอีสปยังเป็นที่คลุมเครือ

ฉบับพรุ่งนี้ (18 มิ.ย.) พบกับเหตุการณ์หลังการตายของอีสป และตัวอย่างนิทาน ว่าด้วยเรื่องทรราช

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน