สิ่งที่มองไม่เห็น วิถีไทย-เยอรมัน

คอลัมน์ สดจากเยาวชน

เมื่อตั้งใจมอง “สิ่งที่มองไม่เห็น” เราเข้าใจถึงตัวตนและทุนวัฒนธรรมทั้งของเราและ “ผู้อื่น” อย่างไรบ้าง

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ร่วมกันนำเสนอนิทรรศการ “สิ่งที่มองไม่เห็น” Invisible Things เพื่อชวนสำรวจของใช้ประจำวัน กระบวนความคิด และวิถีชีวิตอันเป็นลักษณะเฉพาะของคน ในท้องถิ่น รวมไปถึงมุมมองต่อสิ่งของต่างวัฒนธรรม ผ่านคำถามว่าอะไรคือความเป็นไทยและอะไรคือความเป็นเยอรมัน

สดจาก

เด็กๆ เขียนความคิดต่อนิทรรศการ

นิทรรศการ “สิ่งที่มองไม่เห็น” จัดแสดงของใช้ในชีวิตประจำวันทั้งหมด 50 ชิ้น จากประเทศที่ให้ความสำคัญกับการนำธรรมเนียมประเพณี ประวัติศาสตร์ และวิทยาการความสร้างสรรค์มาพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไม่หยุดนิ่งของประเทศไทยและเยอรมนี รวมถึงส่วนวีดิทัศน์ที่นำเสนอภาพถ่ายวิถีชีวิตความเป็นอยู่และภาพยนตร์สั้น เล่าถึงการแลกเปลี่ยนมุมมองต่างวัฒนธรรมโดยกลุ่มนักศึกษาจากทั้งสองประเทศ

หนึ่งในภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ ผู้แต่ง Very Thai : Everyday Popular Culture หนังสือที่เล่าถึงความเป็นไทยแบบที่ไทยยังคิดไม่ถึง ฟิลิป คอนเวล-สมิธห์ อธิบายถึงการนำของใช้ที่คุ้นเคยจากไทยมาจัดแสดงโดยเลือกของที่เห็นถึงความเป็นวัตถุทางวัฒนธรรม ความอะลุ้มอล่วย ความเชื่อ และความสัมพันธ์ของคนในสังคม ผ่านของใช้ประจำของชาวไทย ได้แก่

สดจาก

น้องๆ ลองใช้กระบอกตั๋วรถเมล์

1.สติ๊กเกอร์เปลี่ยนสีรถ คนไทยมีการเปลี่ยนสีให้ ตัวเองและสิ่งสำคัญต่างๆ เช่น การสวมเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับสีที่สมพงศ์กับวันเกิด โดยอาศัยตามหลักอัญมณีศาสตร์แห่งดวงดาวของฮินดู รวมไปถึงการติดสติ๊กเกอร์ “รถคันนี้สีขาว” “รถคันนี้สีดำ” ถือเป็นสิริมงคลต้นทุนต่ำ ที่นอกจากจะช่วยสร้างความอบอุ่นทางจิตใจให้เจ้าของรถ เมื่อแรกติดแล้ว ยังช่วยให้เจ้าของรถไม่ต้องไปทำสีใหม่อีกด้วย

2.กระบอกตั๋วรถเมล์ สิ่งประดิษฐ์ที่ทรงประสิทธิภาพสูงสุดชิ้นหนึ่งของภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการของไทย มาพร้อมเสียงเขย่ากระบอกตั๋ว “แก๊บ ครืด แก๊บๆ ครืด” ที่ได้ยินเมื่อไหร่ก็รู้ทันทีว่าถึงเวลาจ่ายค่ารถเมล์หรือเรือโดยสารแล้ว

สดจาก

สิ่งจัดแสดงสะท้อนความเป็นไทย

3.แป้งเย็นตรางู เก็บความเย็นได้นานถึง 5 ปี ในบรรจุภัณฑ์กระป๋องเหล็ก ชาวไทยเริ่มมีติดครัวเรือนตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 เพื่อช่วยแก้ร้อนอบอ้าวลดผดผื่นคันจากตัวยาสมุนไพรไทยและเมนทอล ปัจจุบันติดอันดับ 1 ใน 10 ของฝากที่ชาวต่างชาติต้องซื้อกลับบ้าน

4.กระติบ ตัวกล่องและฝาสานซ้อนกันสองชั้นเพื่อเก็บความร้อน มีรูจิ๋วให้ไอน้ำระเหยออกได้ ทำให้ข้าวเหนียวที่บรรจุอยู่อุ่นนุ่มแต่ไม่เละ ทั้งยังคงทนและย่อยสลายทางชีวภาพได้ จนถึงวันนี้ยังไม่มีบรรจุภัณฑ์สมัยใหม่ชนิดใดเก็บข้าวเหนียวให้คงสภาพดีเยี่ยมได้เหมือนกระติบ

5.แฟนต้าน้ำแดง แฟนต้าถือกำเนิดที่เยอรมนีในชื่อ “แฟนตาซี” (Fantasie) ยอดขายแฟนต้าในไทยสูงกว่าในจีนและสหรัฐ คนไทยก็ชอบดื่มแฟนต้าน้ำเขียวมากกว่ารสอื่น แต่รสที่ขายดีที่สุดคือรสสตรอว์เบอร์รี่ ซึ่งคนซื้อไปเปิดทิ้งเป็นล้านๆ ขวด มีหลอดเสียบให้พร้อม แต่ไม่มีใครดื่ม หรืออาจจะมีเหมือนกัน แต่ไม่ใช่คน

สดจาก

สิ่งจัดแสดงสะท้อนความเป็นเยอรมัน

6.ที่กั้นที่จอดรถ วิธีโต้ตอบเฉพาะหน้าต่อการวางผังเมืองที่ไม่สมดุล การแย่งกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ และการรุกล้ำพื้นที่เป็นนิจศีล การออกคำเตือนนั้นไม่มีผล ตามถนนหนทางในเมืองไทยมีสิ่งที่ดูคล้ายศิลปะจัดวาง ทำจากวัตถุที่หาได้ใกล้ตัว อย่างท่อพีวีซีเสียบยางรถยนต์ที่เทปูนซิเมนต์ใส่ตรงกลางเพื่อแสดงสิทธิ์ในพื้นที่

7.การตกแต่งรถบรรทุก การปรับโฉมพี่เบิ้มแห่งท้องถนนให้เป็นฉากหลังของงานศิลปะ เป็นการสืบทอดสไตล์การตกแต่งเกวียน และเรือ ความเชื่อเรื่องสิ่งที่คอยปกปักรักษาเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนแต่งรถกันแบบนี้

สำหรับของใช้ประจำของชาวเยอรมัน โดย ศ.ดร.เรอเนส พิตซ์ นักทฤษฎีประวัติศาสตร์และการออกแบบ และ ดร.เซบาสเตียยน พรันซ์ นักสังคมวิทยา

สดจาก

รองเท้าแตะเบียร์เคนชต็อก

1.จมูกตัวตลก คนเยอรมันเห็นว่าพวกตนเป็นคนมีอารมณ์ขัน จึงเอาจริงเอาจังกับเรื่องตลกและการอำกันเล่นเป็นอย่างมากในช่วงคาร์นิวัล จมูกสีแดงคือวิธีปลอมตัวที่ง่ายที่สุด เพราะมันคือเครื่องหมายอัศเจรีย์สีแดงที่ออกแบบมาเพื่อบอกใบ้ว่าทุกสิ่งที่คุณทำหรือพูดออกมาล้วนแต่ตั้งใจจะให้ตลก

2.รองเท้าแตะเบียร์เคนชต็อก แบรนด์โด่งดังเป็นตำนานจากรัฐนอร์ธไรน์-เวสต์ฟาเลีย เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผสานความสบายสูงสุดกับการเดินอย่างถูกหลักสุขภาพ

3.ตราม้าน้ำ เยอรมนีมุ่งหวังให้พลเมืองเยอรมันทุกคนว่ายน้ำเป็น ตราม้าน้ำคือเครื่องหมายรับรองชิ้นแรกที่ผู้เรียนจะได้รับจากคอร์สสอนว่ายน้ำของสมาคมผู้รักษาความปลอดภัยทางน้ำ แต่กว่าจะได้มาต้องว่ายน้ำเป็นระยะทาง 25 เมตร โดยไม่มีเครื่องช่วย

4.กระโถนเด็ก เด็กๆ ถูกฝึกวินัยให้นั่งกระโถนกันตอนเช้าเป็นประจำทุกวันทั่วทั้งเยอรมนี ในท้องตลาดจึงมีกระโถนทุกสีสันและทุกธีมให้เลือก

5.พิมพ์เค้กกุกเกิลฮุปฟ์ พิมพ์วงแหวนแบบคลาสสิคใช้ทำเค้กลายหินอ่อนกุกเกิลฮุปฟ์ เป็นเครื่องแสดงความลุ่มหลงการทำขนมอบของคนเยอรมัน และยังถือว่าเป็นเค้กที่ช่วยเพิ่มพูนสันติภาพ

นิทรรศการ “สิ่งที่มองไม่เห็น” (Invisible Things) จัดแสดงวันนี้-15 กันยายน 2562 เวลา 10.30 – 21.00 น. ห้องแกลเลอรี่ ชั้น 1 อาคารส่วนหลัง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กรุงเทพฯ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน