คุ้มครอง‘หอย’

คอลัมน์ เพื่อนตัวเล็ก

คุ้มครอง‘หอย’ – ช่วงนี้คนไทยพร้อมใจกันแสดงพลังอนุรักษ ตั้งแต่กระแสฮือฮา ลูกพะยูนน้อย น้องมาเรียม และ น้องยามีล จนมาถึงกรณีโลกออนไลน์ประณามรายการโทรทัศน์เกาหลีใต้ หลังลักลอบล่าและกิน “หอยมือเสือ” สัตว์น้ำคุ้มครองของไทย ถือเป็นเรื่องดีที่เราตื่นตัว และตระหนักเห็นความสำคัญของสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์

สัปดาห์นี้เลยพามาทำความรู้จักกับหอย 2 ชนิด ที่ขึ้นบัญชีเป็นสัตว์คุ้มครองของไทย ตัวแรกคือ หอยมือเสือ หอยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เปลือกอาจยาวได้ถึง 100-120 ซ.ม. หนักได้มากถึง 200 ก.ก. และอายุยืนถึง 100 ปีหรือมากกว่านั้น

หอยมือเสือมีสองเพศในตัวเดียวกัน และมีคุณประโยชน์ต่อระบบนิเวศ เพราะทำหน้าที่เหมือนโรงกำจัดของเสียในแหล่งน้ำที่อยู่อาศัย ปัจจุบันมีประชากรน้อยมากๆ และเพาะพันธุ์ได้แค่ชนิดเดียว จากทั้งหมด 5 ชนิด

คุ้มครอง‘หอย’

คุ้มครอง‘หอย’

อีกประเภท “หอยสังข์แตร” หอยที่มีสีสันสวยงาม ยอดเปลือกเรียวแหลมคล้ายเจดีย์ ยาวราวๆ 30 เซนติเมตร อยู่ในทะเลลึก พบทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน คอยกินศัตรูปะการัง เป็นหอยชนิดเดียวกับที่ถูกนำเปลือกมาทำเป็นเครื่องเป่าในพิธีพราหมณ์ แต่มีจำนวนน้อยลงต่อเนื่อง จึงถูกบรรจุเป็นสัตว์คุ้มครองของไทยตั้งแต่ปี 2535

แม้โทษปรับละเมิดการจับหอยทั้งสองชนิดเป็นเงินไม่มาก แต่ก็ไม่สมควรจะทำร้ายมันนะ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน