ห่วง‘แพทย์-เจ้าพนักงานฉุกเฉิน’ขาดแคลน

จี้พัฒนาหน่วยบริการให้เท่าเทียม-ทั่วถึง-ทันเวลา

ในการจัดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งที่ 13 ประจำปี 2562 หัวข้อ “มุ่งสู่ยุคใหม่การแพทย์ฉุกเฉินไทย” ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จัดเสวนาพิเศษให้ข้อ “อนาคตของบุคลากรกับการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทย”

นพ.สุรจิต สุนทรธรรม กรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) กล่าวว่า การปฏิบัติการฉุกเฉินของผู้ปฏิบัติการ แบ่งได้เป็น 2 ส่วนสำคัญ คือ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และการแพทย์ฉุกเฉิน โดย 2 ส่วนนี้แบ่งกันชัดเจน ทุกส่วนต้องมีกฎหมายรองรับชัดเจน

นพ.สุรจิต สุนทรธรรม

ด้าน นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน แห่งชาติ (สพฉ.) ระบุว่า สพฉ. เน้นย้ำและเห็นความสำคัญเรื่องการพัฒนากำลังคนมาก แต่ทั้งต้องพัฒนา 3 ด้านควบคู่กัน คือ ผู้ใช้ผู้คุ้มครอง และผู้ผลิต เพื่อให้เกิดกำลังคนหรือบุคลากร ตอบโจทย์การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินได้ โดยสิ่งสำคัญของการพัฒนา คือต้องเริ่มจากผู้ใช้ คือหน่วยงานของรัฐ เอกชน ท้องถิ่น ว่าต้องการอะไร ทั้งความต้องการเชิงปริมาณ คือจัดให้มีหน่วยครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้เข้าถึงผู้ป่วยฉุกเฉินทันเวลา และความต้องการเชิงคุณภาพ คือคำนึงถึงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และที่สำคัญต้องมีโครงสร้าง กำหนดตำแหน่งบุคลากรขึ้นมา ให้ชัดเจน และสุดท้ายคือ ผู้ผลิต คือหน่วยงานต้องผลิตบุคลากรให้มีใบรับรอง ปริญญา หรือประกาศนียบัตรและต้องผลิตบุคลากรให้ได้มาตรฐานมีคุณภาพมีประสิทธิภาพ

นพ.ไพโรจน์เปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตก่อนที่ ผู้ปฏิบัติการจะไปถึงว่า ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิต ร้อยละ 4.25 ทำให้มีหลายหน่วยงานเริ่มพัฒนา โดยวางโครงสร้าง จัดรถพยาบาลไว้ตามจุดต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงผู้ป่วยฉุกเฉินได้เร็วขึ้น ดังนั้นหากวางรถพยาบาลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ได้ ให้ภายใน 8 นาที ก็จะต้องพัฒนากำลังคน เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 5 พันคน ซึ่งหากทำได้ เราก็จะเข้าถึงผู้ป่วยฉุกเฉินได้เร็ว และลดอัตราการเสียชีวิตได้ตามเป้าหมาย

นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย

ขณะที่ นพ.ชาติชาย คล้ายสุวรรณ หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉินโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวถึง การปฏิรูปกำลังคนในระบบการแพทย์ฉุกเฉินว่าต้องสอดรับกับ เป้าหมายของการแพทย์ฉุกเฉินคือ เท่าเทียม ทั่วถึง ทันเวลา ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม

“หัวใจสำคัญคือกำลังคน หากวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันถือว่าขาดแคลนมาก เบื้องต้นเราตั้งเป้าว่า 10 ปีข้างหน้า จะต้องมีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน 2.4 คน ต่อแสนประชากร คือยังขาดแคลน อีก 1,420 คน, พยาบาลEN ENP 4.1 คน ต่อแสนประชากร ขาดแคลน 2,060 คน และ PARAMEDIC 4.1 คน ต่อแสนประชากรขาดแคลน 2,405 คน” นพ.ชาติชายกล่าว

ขณะที่ นายสิทธิชัย ใจสงบ เจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ (จฉพ.) โรงพยาบาลบางสะพานน้อย กล่าวว่า ปัจจุบันมี จฉพ. 3,250 คน กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน แต่ในทางกลับกันสถาบันที่เปิดสอนเริ่มลดลง คนมาเรียนน้อย ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง อีกทั้งยังมี จฉพ. ที่ออกจากระบบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ขาดความมั่นคงในวิชาชีพ ดังนั้นเราจะต้องแก้ปัญหาจุดนี้ให้ได้

“จฉพ.ยินดีทำงานตามระบบร่วมกับทุกวิชาชีพ แต่ต้องการพัฒนาศักยภาพตนเองด้วย ดังนั้นจึงควรมีหลักสูตรพัฒนาความรู้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้อย่างถูกต้อง เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยฉุกเฉินเอง” นายสิทธิชัยกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน