‘ปตท.’ลุยออสเตรีย-ฝรั่งเศส ถอดแบบสมาร์ตซิตี้สู่‘อีอีซีไอ’ : รายงานพิเศษ

‘ปตท.’ลุยออสเตรีย-ฝรั่งเศส ถอดแบบสมาร์ตซิตี้สู่‘อีอีซีไอ’ : รายงานพิเศษ – ช่วงปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม และ นางหงษ์ศรี เจริญวราวุฒิ ผอ.โครงการพัฒนาพื้นที่ วังจันทร์ วัลเลย์ เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ ‘อีอีซีไอ’(Eastern Economic Corridor of Innovation) พาสื่อมวลชนเดินทางไปดูงานการจัดการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และโครงสร้างพื้นฐาน ที่สาธารณรัฐออสเตรีย และฝรั่งเศส

เพื่อนำแนวคิดการพัฒนา สมาร์ท ซิตี้ และศูนย์วิจัยนวัตกรรมมาเป็นต้นแบบ พัฒนาต่อยอดผลักดันให้อีอีซีไอ ในพื้นที่วังจันทร์ วัลเลย์ จ.ระยอง บนเนื้อที่กว่า 3 พันไร่ ของ ปตท. ให้กลายเป็นฮับนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จุดแรกที่ไปเยือนคือ Aspern Smart City โดยตัวแทนของ Aspern Smart City เล่าให้เราฟังว่าที่นี่เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2550 หรือเมื่อ 12 ปีก่อน บนพื้นที่ขนาด 1,500 ไร่ มีเป้าหมายเพื่อสร้างเมืองใหม่ที่ใช้งานหลากหลาย เป็นทั้งที่อยู่อาศัย ออฟฟิศ ศูนย์วิจัย สถาบันการศึกษา พื้นที่พาณิชยกรรม และพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนที่มีมากกว่า 50%

ภายใต้คอนเซ็ปต์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการวางระบบคมนาคมที่เน้นการใช้รถไฟฟ้า สกู๊ตเตอร์ รถจักรยานและการเดินเท้า และยังนำนวัตกรรมมาจัดระบบพลังงาน เน้นผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้เองทั้งแสงอาทิตย์ และลม โดยตั้งเป้าลดการใช้พลังงานต่อประชากรลง 40% และเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน เป็น 50% ภายในปี ค.ศ.2050

รวมไปถึงการจัดการขยะรีไซเคิลให้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง ทำเพื่อให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ซึ่งขณะนี้สามารถดึงให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาอยู่อาศัยได้ราว 7 พันคน จากเป้าหมาย 2 หมื่นคน

โดยรัฐบาลออสเตรียตั้งเป้าผลักดันให้เวียนนาเป็นหนึ่งในห้าศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมของสหภาพยุโรป ภายในปี ค.ศ.2050

จากนั้นข้ามไปดูสมาร์ตซิตี้ที่เมืองเกรอโนเบิ้ล (Grenoble) ตั้งอยู่ใกล้เทือกเขาแอลป์ในสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยนาย Eric Piolle นายกเทศมนตรีของเมือง เล่าให้ฟังว่า เกรอโนเบิ้ลในอดีตเป็นเขตอุตสาหกรรมหนัก แต่ปัจจุบันถูกพัฒนาให้เป็นเมืองเชิงสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำเร็จได้

เพราะหน่วยงานท้องถิ่น ชุนชน สถาบันการศึกษาและเอกชนเข้ามาช่วยกันพลิกฟื้นเมือง วางแผนเป็นเมืองประหยัดพลังงาน และจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาขึ้นจนกลายเป็นฮับวิจัยอันดับ 2 ของฝรั่งเศสและอันดับ 5 ของโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจขอเงเมืองเติบโตแบบก้าวกระโดดจีดีพีเป็นอันดับ 2 ของฝรั่งเศส และยังติดอันดับเมืองน่าอยู่จากการออกแบบระบบคมนาคมที่สามารถเข้าถึงพื้นที่กว่า 80%

อนาคตมีแผนพัฒนารถรางลอยฟ้า ที่ช่วยรองรับคนที่จะเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยได้มากขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ไปดูงานที่ ‘Grenoble Innovation for Advanced New Technologies’ (GIANT) สถาบันการศึกษาชั้นนำของเมืองเกรอโนเบิ้ล เกิดจากการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐ 19% รัฐบาลท้องถิ่น 24 หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานในสหภาพยุโรป 19 และหน่วยงานเอกชน 15 และ CEA Grenoble Center 5% หน่วยงานด้านการพัฒนาวัตกรรม สาขาพลังงานและสิ่งแวดล้อม ชีวศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ และไมโครและนาโนเทคโนโลยี

มีห้องวิจัยและห้องทดลองที่พร้อมเปิดให้สตาร์ตอัพเข้ามาเรียนรู้และใช้ในการพัฒนาสินค้า และยังให้นักวิจัยจากทั่วโลกได้เข้ามาเรียนรู้และพัฒนางานวิจัยเพื่อนำกลับไปใช้ในประเทศของตัวเองอีกด้วย

ปัจจุบันสามารถผลิตนักวิจัยได้ราว 1 หมื่นคน สร้างงานในภาคอุตสาหกรรม 1 หมื่นงาน และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ปีละ 4.1 ล้านยูโร คิดเป็น 1 ใน 3 ของจีดีพีเมือง

นายชาญศิลป์ ระบุว่า ปตท.จะนำแนวคิดเรื่องการวางผังเมืองของ Aspern ที่เน้นการลดใช้เชื้อเพลิงทั้งระบบที่อยู่อาศัยและการคมนาคมขนส่ง ออกแบบทางจักรยาน และรถไฟฟ้าภายในพื้นที่มาปรับใช้กับพื้นที่อีอีซีไอ

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร

รวมไปถึงนำนวัตกรรมเกี่ยวกับการจัดการพลังงานทดแทนมาใช้ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และลม ซึ่งฝรั่งเศสตั้งเป้าใช้พลังงานทดแทนเป็นร้อยละ 50 ในปี 2020 เพื่อบรรเทาปัญหาคลื่นความร้อนที่ประเทศแถบยุโรปกำลังประสบอยู่

ทั้งจะนำการจัดการระบบฐานข้อมูลการใช้พลังงาน ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่คนในชุมชนสามารถเข้ามาวางแผนการใช้พลังงานให้ต่ำกว่ากำลังการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงแนวทางการกำจัดขยะแบบรีไซเคิลนำมาใช้ใหม่ได้

ส่วนโมเดล สมาร์ทซิตี้ ของเมืองเกรอโนเบิ้ล นั้นจะนำจุดเด่นเรื่องการให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการระบบนิเวศ และนำแนวทางการส่งเสริมและสร้างศูนย์วิจัยนวัตกรรมมาปรับใช้ เพื่อผลักดันให้อีอีซีไอ เป็นแหล่งวิจัยและนวัตกรรมที่เข้มข้นเพื่อนำไปต่อยอดการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี และทั่วประเทศ

โดยเฉพาะการบ่มเพาะเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้นและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Startups & SMEs Support)

ด้าน นายวิทวัส บอกว่า เพื่อให้อีอีซีไอสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีไปพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ ปตท.เตรียมจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมา ผลักดันให้นำงานวิจัยที่น่าสนใจของมหาวิทยาลัย หรือสถาบันวิจัยต่างๆ มาพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์

นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต

นำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้างให้สามารถพัฒนาเป็นสินค้าขายได้ โดยจะคัดเลือกทีมคนรุ่นใหม่ของปตท. ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) เพื่อคัดเลือกงานวิจัยที่มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์

ขณะที่นางหงษ์ศรีกล่าวว่า ในเฟสแรก ปตท.ทุ่มเงิน 3 พันล้านบาท เพื่อลงทุนด้านสาธารณูปโภคชั้นพื้นฐานให้อีอีซีไอ เป็นเมืองอัจฉริยะประหยัดพลังงาน รวมทั้งเตรียมที่จะออกไปโรดโชว์ในต่างประเทศคือ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, จีน และยุโรป เพื่อดึงนักลงทุนด้านนวัตกรรมเข้ามาอยู่ในพื้นที่

หวังสร้างให้ไทยเป็นฮับวิจัยนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาประเทศและบุคลากรที่มีคุณภาพต่อไป

แม้ว่าอีอีซีไอของไทยวันนี้จะอยู่ในช่วงตั้งไข่ คงต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่าจะเป็นรูปเป็นร่าง แต่หากสามารถถอดประสบการณ์จากประเทศที่ประสบความสำเร็จ มาพัฒนาต่อยอดได้ถูกทาง

ไทยน่าจะกลายเป็นฮับนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ภายใน 20 ปี ตามเป้าหมายของ ‘ปตท.’

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน