พนมรุ้ง (ตอนแรก)

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

พนมรุ้ง – อ่านเรื่องเมืองโบราณศรีเทพของน้าชาติแล้ว อยากทราบเรื่องปราสาทหินพนมรุ้งด้วย จะเป็นมรดกโลกด้วยกันใช่ไหม

เบบี๋บี

ตอบ เบบี๋บี

อธิบดีกรมศิลปากร อนันต์ ชูโชติ เปิดเผยเมื่อวันที่ 9 .. 2562 ว่า จากการเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก สมัยประชุมที่ 43 ที่เมืองบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน

ที่ประชุมมีมติรับรองแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย จำนวน 2 แหล่ง ได้แก่ เมืองโบราณศรีเทพ .เพชรบูรณ์ และกลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด .บุรีรัมย์ ขึ้นทะเบียนในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) โดยไทยจะต้องเตรียมจัดทำเอกสาร เพื่อนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าวเข้าสู่บัญชีมรดกโลกต่อไป

พนมรุ้ง

เกี่ยวกับเมืองโบราณศรีเทพ รู้ไปโม้ดเสนอไปแล้วเมื่อวันที่ 24 เม.. วันนี้ว่าด้วยเรื่อง ปราสาทพนมรุ้งข้อมูลจากกรมศิลปากรบอกว่า อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นภูเขาไฟเก่าที่หมดพลังแล้ว

จากศิลาจารึกและหลักฐานสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่พบภายในบริเวณปราสาทหินเขาพนมรุ้ง และที่เชิงเขาด้านทิศใต้ แสดงว่าพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 โดยกษัตริย์ของอาณาจักรเขมร ทรงจัดผู้ปกครองชุมชนเป็นผู้ดูแลเรื่อยมา สิ่งก่อสร้างที่ปรากฏ ได้แก่ ปราสาทอิฐ 2 หลังบนเขาพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำ

ปราสาทพนมรุ้ง สร้างขึ้นในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย วางผังการก่อสร้างตามคติความเชื่อเรื่องภูมิจักรวาล มีปราสาทประธานเปรียบดังเขาไกรลาส วิมานแห่งพระศิวะเป็นศูนย์กลางจักรวาล ตั้งอยู่บนสวรรค์ชั้นสูงสุด

สำหรับชื่อพนมรุ้งเป็นชื่อเดิมที่ปรากฏในจารึก แปลว่า ภูเขาที่กว้างใหญ่ ก่อนการก่อสร้างปราสาทประธานในราวพุทธศตวรรษที่ 15 มีการก่อสร้างปราสาทอิฐ 2 หลัง ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน

พนมรุ้ง

ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 16 มีการก่อสร้างปรางค์น้อย อยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน ส่วนปราสาทประธานและสิ่งก่อสร้างหลักบนเขาพนมรุ้งสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 17 ดังปรากฏในศิลาจารึกพนมรุ้งหลักที่ 7 และ 9

ทั้งนี้ ศิลาจารึกกล่าวถึงชื่อของนเรนทราทิตย์โดยมีหิรัณยะผู้เป็นโอรสเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง นอกจากนี้ ภายในบริเวณปราสาทหินเขาพนมรุ้งยังพบสิ่งก่อสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (..1724-1762) ได้แก่ บรรณาลัยและพลับพลา รวมทั้งอโรคยาศาล (โรงพยาบาล) และธรรมศาลา (ที่พักคนเดินทาง) ที่สร้างอยู่บริเวณเชิงเขาพนมรุ้ง

จากหลักฐานต่างๆ ดังกล่าว รวมทั้งจากลักษณะของบาราย (สระน้ำ) ขนาดใหญ่ที่พบ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้น่าจะมีการอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น เพียงแต่ไม่พบร่องรอยของคูน้ำคันดินที่แสดงความเป็นเมืองที่บริเวณนี้

จึงอาจอธิบายได้ว่า ชุมชนบริเวณปราสาทหินเขาพนมรุ้งตั้งอยู่ในเส้นทางผ่านจากเมืองพระนคร เมืองหลวงของอาณาจักรเขมรโบราณ ไปยังเมืองพิมาย ทั้งนี้ อาศัยหลักฐานที่พบคือ จารึกปราสาทพระขรรค์และจารึกปราสาทตาพรหม ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

พนมรุ้ง

หลังจากสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อาณาจักรเขมรโบราณก็เริ่มเสื่อมอำนาจลง อาณาจักรสุโขทัยและอยุธยาได้ก่อตัวขึ้นและเข้ามามีอำนาจแทน ปราสาทหินเขาพนมรุ้งจึงเปลี่ยนสถานะจากศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย มาเป็นวัดในพระพุทธศาสนาแบบมหายานที่นิยมกันในสมัยพระเจ้าชัย วรมันที่ 7

พงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า เมื่อพ..1981 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ทรงเตรียมกองทัพจะยกมาตีเมืองพิมายและเมืองพนมรุ้ง ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็มีการกล่าวถึงเมืองนางรอง ซึ่งอยู่ห่างจากปราสาทหินเขาพนมรุ้งไปทางด้านทิศตะวันตก 20 กิโลเมตร

โดยยังคงปรากฏหลักฐานของคูเมืองอยู่ที่เมืองนั้น ผ่านมานาน เมืองนางรองได้รับการยกเป็นเมืองชั้นจัตวาในสมัยรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันคืออำเภอนางรอง ขึ้นกับจังหวัดบุรีรัมย์ ส่วนพื้นที่บริเวณปราสาทหินเขาพนมรุ้งขึ้นกับ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดเดียวกัน

ปราสาทหินเขาพนมรุ้งได้รับการออกแบบตามคติความเชื่อและความนิยมในศิลปะเขมร กล่าวคือ เน้นความสำคัญของส่วนประกอบเข้าหาจุดศูนย์กลาง คือ ปรางค์ประธาน โดยปรับลักษณะการก่อสร้างให้เข้ากับสภาพของภูมิประเทศที่เป็นแนวลาดชันของเขาพนมรุ้ง

ฉบับพรุ่งนี้ (24 ..) พบกับอลังการงานสร้างปราสาท พนมรุ้ง

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน