พนมรุ้ง (ตอนจบ)

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

พนมรุ้ง (ตอนจบ) : รู้ไปโม้ดโดยน้าชาติ ประชาชื่น – ฉบับวานนี้ (23 ก.ค.) “เบบี๋บี” อยากทราบเรื่องปราสาทหินพนมรุ้ง เมื่อวานนำข้อมูลจากกรมศิลปากรตอบบางส่วนไปแล้ว วันนี้ว่ากันต่อถึงรายละเอียด

คำตอบนำมาจากวิกิพีเดีย คำว่า พนมรุ้ง มาจากภาษาเขมร วนํรุง แปลว่า ภูเขาใหญ่ องค์ประกอบและแผนผังของปราสาทเป็นแนวเส้นตรง เน้นความสำคัญเข้าหาจุดศูนย์กลาง นั่นคือปราสาทประธานซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านขวาของบันไดทางขึ้นสู่ศาสนสถาน มีอาคารพลับพลา เป็นที่พัก จัดเตรียมองค์ของกษัตริย์ก่อนเสด็จเข้าสักการะเทพเจ้า หรือประกอบพิธีกรรมในบริเวณศาสนสถาน

พนมรุ้ง

ทางเดินสู่ปราสาททั้งสองข้างประดับด้วยเสามียอดคล้ายดอกบัวตูม เรียกว่า เสานางเรียง ข้างละ 35 ต้น ทอดตัวไปยังสะพานนาคราช ราวสะพานเป็นลำตัวพญานาค 5 เศียร จากสะพานนาคราชชั้นที่ 1 มีบันได 52 ขั้นขึ้นไปยังลานบนยอดเขา สุดสะพานนาคราชเป็นบันไดทางขึ้นสู่ปราสาท ซึ่งทำเป็นชานพักเป็นระยะๆ รวม 5 ชั้น

สุดบันไดเป็นชานโล่งกว้าง มีทางนำไปสู่สะพานนาคราชหน้าประตูกลางของระเบียงคด อันเป็นเส้นทางหลักที่จะผ่านเข้าสู่ลานชั้นในของปราสาท และจากประตูนี้ยังมีสะพานนาคราชรับอยู่อีกช่วงหนึ่งก่อนถึงปรางค์ประธาน

ที่หน้าซุ้มประตูระเบียงคดทิศตะวันออก มีสะพานนาคราชชั้นที่ 2 ระเบียงคดก่อเป็นห้องยาวต่อเนื่องกัน เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ารอบลานปราสาทแต่ไม่สามารถเดินทะลุถึงกันได้ เพราะมีผนังกั้นอยู่เป็นช่วงๆ มีซุ้มประตูกึ่งกลางของแต่ละด้าน ที่มุมระเบียงคดทำเป็นซุ้มกากบาท ห

น้าบันของระเบียงคดทิศตะวันออกด้านนอก มีภาพจำหลักรูปฤๅษี ซึ่งหมายถึงพระศิวะในปางที่เป็นผู้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ และอาจหมายรวมถึงนเรนทราทิตย์ ผู้ก่อสร้างปราสาทประธานแห่งนี้

พนมรุ้ง

ปราสาทประธานตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมกว้าง 8.20 เมตร สูง 27 เมตร มีมณฑป คือห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมอยู่ทางด้านหน้า ปรางค์ประธานตั้งแต่ฐานผนังด้านบนและด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลัง หน้าบัน ซุ้มชั้นต่างๆ ตลอดจนกลีบขนุน ก่อด้วยหินทรายสีชมพู ด้านหน้าทำเป็นมณฑปดังกล่าว โดยมีอันตราละหรือฉนวนเชื่อมปราสาทประธาน

บริเวณหน้าบันและทับหลังของปราสาทประธานมีภาพจำหลักแสดงเรื่องราวในศาสนาฮินดู เช่น ศิวนาฏราช ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ อวตารของพระนารายณ์ เช่น พระรามในเรื่องรามเกียรติ์ หรือพระกฤษณะ ภาพพิธีกรรม ภาพชีวิตประจำวันของฤๅษี เป็นต้น

ปรางค์สลักลวดลายประดับ ทั้งลวดลายดอกไม้ ใบไม้ ภาพฤๅษี เทพประจำทิศ ศิวนาฏราชที่ทับหลังและหน้าบันด้านหน้าปรางค์ประธาน ลักษณะของลวดลายและรายละเอียดอื่นๆ ช่วยให้กำหนดได้ว่าปรางค์ประธาน บันไดทางขึ้นและสะพานนาคราชสร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 17

ภายในลานชั้นในด้านตะวันตกเฉียงใต้มีปรางค์ขนาดเล็ก 1 องค์ ไม่มีหลังคา จากหลักฐานทางศิลปกรรมที่ปรากฏ เช่น ภาพสลักที่หน้าบัน ทับหลัง บอกให้ทราบได้ว่าปรางค์องค์นี้สร้างขึ้นก่อนปรางค์ประธาน มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16

ภายในเรือนธาตุตรงกึ่งกลาง เรียกว่า ห้องครรภคฤหะ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุด คือ ศิวลึงค์ ซึ่งแทนองค์พระศิวะ เป็นที่น่าเสียดายว่าประติมากรรมชิ้นนี้สูญหายไป เหลือเพียงแต่ท่อโสมสูตร คือร่องน้ำมนต์ที่ใช้รับน้ำสรงจากการสักการะศิวลึงค์เท่านั้น

ทางเดินด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธานมีปราสาทอิฐ 2 องค์ และปรางค์น้อย จากหลักฐานทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม กล่าวได้ว่าปราสาททั้งสามหลังสร้างขึ้นก่อนปราสาทประธานราวพุทธศตวรรษที่ 15 และ 16 ตามลำดับ

พนมรุ้ง

ส่วนทางด้านหน้าของปราสาทประธาน คือทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอาคาร 2 หลังก่อด้วยศิลาแลง เรียกว่าบรรณาลัย ซึ่งเป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์ทางศาสนา ก่อสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 ร่วมสมัยเดียวกันกับโรงช้างเผือก พลับพลาที่สร้างขึ้นด้วยศิลาแลงข้างทางเดินขึ้นสู่ปราสาททางทิศเหนือ

ชุมชนที่เคยตั้งอยู่บริเวณเขาพนมรุ้งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ เพราะนอกจากมีบารายหรืออ่างเก็บน้ำ ซึ่งใช้ในพื้นที่ส่วนหนึ่งของปากปล่องภูเขาไฟเดิมเป็นอ่างเก็บน้ำอยู่บนเขาอยู่แล้ว ที่เชิงเขามีบารายอีก 2 สระ

คือสระน้ำหนองบัวบารายที่เชิงเขาพนมรุ้ง และสระน้ำโคกเมืองใกล้ปราสาทหินเมืองต่ำ สระน้ำบนพื้นราบเบื้องล่าง ภูพนมรุ้งนี้รับน้ำมาจากธารน้ำที่ไหลมาจากบนเขา นอกจากนี้ยังมีกุฏิฤๅษีอยู่ 2 หลัง เป็นอโรคยาศาลที่รักษาพยาบาลของชุมชนอยู่เชิงเขาด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน