ขับเคลื่อนซิลเวอร์โซไซตี

สังคมสูงวัยพัฒนาประเทศ

ชลระดา หมื่นไธสง

ขับเคลื่อนซิลเวอร์โซไซตี – อีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และจะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ จึงต้องเตรียมพร้อมรับมือเศรษฐกิจสังคมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ ด้วยการทำให้ ผู้สูงอายุ เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพในอนาคต

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดการประชุมวิชาการ ทอพ. ครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ “Silver Society ขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจไทย” ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ โดยมี ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธาน

ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ประธานที่ประชุมผู้บริหารองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติเฉพาะ (ทอพ.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยนับตั้งแต่ปี 2548 เห็นได้จากสัดส่วนประชากรสูงวัย ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว จนมีจำนวนมากกว่าประชากรวัยเด็ก ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า

ณ วันที่ 31 ธ.ค.2561 ไทยมีประชากรทั้งหมด 66.4 ล้านคน เป็นประชากรสูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 10.67 ล้านคน หรือ 16.06% ประกอบด้วยผู้สูงอายุชาย 4.72 ล้านคน ผู้สูงอายุหญิง 5.95 ล้านคน จังหวัดที่มีจำนวนประชากรสูงอายุมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร มีผู้สูงอายุกว่า 1 ล้านคน หรือ 17.98% ตามด้วยนครราชสีมา เชียงใหม่ ขอนแก่น และอุบลราชธานี

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผอ.สสว. กล่าวว่า ไทยจะเป็นประเทศที่ 2 ของภูมิภาคอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete aged society) ในปี 2564 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประมาณการว่า ประชากรสูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 13 ล้านคน สูงถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และในปี 2583

หรืออีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของคนไทย โดยจะมีผู้สูงอายุวัยปลายที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป มากถึง 3.5 ล้านคน

จากนั้น ดร.กิตติ วงศ์ถา วราวัฒน์ หัวหน้าทีมวิจัยนวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ บรรยายหัวข้อ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงวัย”

โดยชี้สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มผู้สูงอายุติดเตียง 1.5% เป็นกลุ่มที่รัฐต้องให้การดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง, กลุ่มผู้สูงอายุติดบ้าน 19% และกลุ่มติดสังคม 79.5% เป็นกลุ่มที่ประกอบอาชีพได้ เพื่อสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์

ทางศูนย์จึงเป็นศูนย์กลางของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเครื่องมือแพทย์ นวัตกรรมสุขภาพ ที่เกี่ยวข้องกับ 9 โรคสำคัญของผู้สูงอายุ เช่น อุปกรณ์การแพทย์สำหรับหัตถการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ และสมองผ่านสายสวน, ระบบ ตรวจเฝ้าระวังเบาหวาน และความดันเคลื่อนที่, การออกแบบและพัฒนากระดูกต้นขาเทียมส่วนบน สำหรับคนไข้มะเร็งกระดูก, เทคโนโลยีระบบจมูกอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเพื่อเฝ้าระวังผู้สูงอายุในที่พักอาศัย, ระบบเฝ้าระวังเชิงป้องกันการหกล้ม

สำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุด้วยอุปกรณ์โครงข่ายเซ็นเซอร์ร่างกาย ระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเฝ้าระวังผู้สูงอายุกลุ่มอัลไซเมอร์ในบริเวณหมู่บ้าน, ระบบระบุตำแหน่งผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีอุปกรณ์สำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุ เช่น เครื่องยกตัวผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ, เครื่องช่วยเดิน, อุปกรณ์ช่วยใส่กางเกง เป็นต้น

ปิดท้ายด้วยหัวข้อ “การดูแลสุขภาพสำหรับผู้สูงวัย” โดย พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย บอกว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลปัญหาสุขภาพร่างกายของผู้สูงอายุในปี พ.ศ.2560 พบว่า ร้อยละ 95 สามารถทำกิจวัตรพื้นฐานที่ใกล้ตัวได้ด้วยตนเอง แต่จะมีปัญหาเรื่องการมองเห็น การได้ยิน การเคี้ยวอาหาร ปัญหาสุขภาพช่องปาก

ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คุณภาพชีวิตและสุขภาพโดยรวมดีขึ้นหรือไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการได้ยิน กลุ่มที่มีปัญหามากที่สุด คือกลุ่มที่เริ่มต้นสู่วัยผู้สูงอายุวัยกลาง เช่นเดียวกับเรื่องสุขภาพช่องปาก

พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ

ส่วนสุขภาพด้านอื่น เช่น ผู้ป่วยโรคกลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง พบว่ามี ผู้สูงอายุมีปัญหานี้เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว และความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น 1.7 เท่าตัว ทางมูลนิธิฯ ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมร่วมมือกันพัฒนาต้นแบบการดูแลสุขภาพ และคำนวณการดูแลสุขภาพ ก่อนที่เข้าสู่ภาวะเจ็บป่วยจนต้องไปพึ่งพาศูนย์บริการรักษาพยาบาล

โดย สสส. สนับสนุนการทำโครงการต่างๆ ที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มและพัฒนาศักยภาพตัวเองของผู้สูงอายุ ในระบบเครือข่ายของชมรมผู้สูงอายุที่อยู่ภายใต้สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย พัฒนาชมรมต้นแบบและขยายผลจนมีการต่อยอด

โดยพัฒนาคุณภาพของการรวมตัวกัน ไม่ใช่เพียงแค่กิจกรรมนันทนาการ แต่เพื่อพัฒนาศักยภาพตัวเองให้พึ่งพาตัวเองได้ในทุกด้าน เกิดการเสริมศักยภาพ ภายใต้โรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อให้มีชุดความรู้และแนวทางที่จะเรียนรู้ต่อเนื่องและเรียนรู้ตลอดชีวิต

“นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว ผู้สูงอายุจะต้องมีความมั่นคงทางรายได้ผ่านกลไกการออมต่างๆ การใช้ชีวิตด้วยการมีส่วนร่วมในสังคม เพื่อให้ได้เรียนรู้การปรับตัว การใช้ชีวิต และมีทักษะใหม่ๆ สิ่งที่ผู้สูงอายุต้องทำ คือการเรียนรู้และปรับตัวเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างวัยในครอบครัว ส่วนผู้สูงอายุที่โสดไม่มีลูกหลาน อย่าเก็บตัวอยู่ในบ้านเพียงลำพัง ควรไปพบเพื่อนฝูงและเข้าสังคม เพื่อทำให้สภาพจิตใจดีขึ้น”

แอพพลิเคชั่น “ชราเยโฮ”

พญ.ลัดดากล่าวว่า สสส.ยังสนับสนุนให้พัฒนาแอพพลิเคชั่น “ชราเยโฮ” โดยผู้ใช้จะต้องป้อนข้อมูลส่วนบุคคลเข้าไป จากนั้นแอพพลิเคชั่นจะประมวลผลภายใต้หลักวิชาการ ทำนายอนาคตของผู้ใช้ว่าในบั้นปลายชีวิตจะเป็นผู้สูงอายุแบบไหน เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นำไปสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้ชีวิตที่ไม่อันตรายต่อสุขภาพ และเป็นผู้สูงอายุที่มีประโยชน์ต่อสังคม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน