นักสืบสายชัวร์ เช็ก!ก่อนแชร์

นักสืบสายชัวร์ “ข่าวปลอม” หรือ “เฟกนิวส์” (Fake News) แพร่หลายในสังคมสร้างความเข้าใจผิด ที่ผ่านมาพบว่าในโซเชี่ยลมีเดียมีการแชร์ข่าวปลอมที่สร้างความตื่นตระหนกและผลกระทบในวงกว้างก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

นักสืบสายชัวร์ 

สำหรับประเทศไทย เครื่องมือหลักที่ใช้ต้านข่าวปลอมในโลกออนไลน์ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2560 มาตรา 14 ที่กำหนดโทษสำหรับคนที่นำเข้า เผยแพร่ และส่งต่อข้อมูลเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท

แต่สิ่งที่สำคัญกว่าตัวบทกฎหมายคือการให้ความรู้เยาวชนให้รู้จักตรวจสอบข้อมูลข่าวสารก่อนแชร์ในโซเชี่ยลมีเดีย และเลือกรับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ

นักสืบสายชัวร์ 

น้องๆ จากโรงเรียนวิชูทิศ

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จับมือกับศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท จัดโครงการ “นักสืบสายชัวร์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์เยาวชน” ประกาศเจตนารมณ์ในการร่วมตรวจสอบและให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน รวมถึงสร้างเครือข่ายเยาวชนในการช่วยขับเคลื่อนกลไกการตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร เพื่อไม่ให้เยาวชนตกเป็นเครื่องมือการส่งข้อมูลข่าวปลอม ข่าวมั่ว บนโลกออนไลน์

ตลอดเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจัดโรดโชว์ลงพื้นที่ถ่ายทอดความรู้กับตัวแทนเยาวชนชั้นมัธยมศึกษาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยส่งทีมวิทยากร โย พีรพล อนุตรโสตถิ์ หัวหน้าทีมศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์, ทีมงานจากเพจอีจัน และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) มุ่งปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่ร่วมเป็นผู้คัดกรอง (Fact Checker) ซึ่งเปรียบเสมือนนักสืบบนโลกออนไลน์ที่ใช้สื่อแบบปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขับเคลื่อนให้สังคมดีขึ้น พร้อมเป็นผู้นำเครือข่ายเยาวชนให้ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ต่อไป

น้องๆ จากโรงเรียนสาธิต ม.รามฯ

โรงเรียนชิโนรส

ผศ.ชวลิต สูงใหญ่ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร มองว่า “การใช้โซเชี่ยลของเยาวชนมีความเสี่ยงในเรื่องการละเมิดสิทธิผู้อื่นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทุกวันนี้เยาวชนยังไม่รู้เรื่องกฎหมายเพียงพอ อยากให้เยาวชนทุกคนตระหนักว่าในทางกฎหมายไม่ได้ละเว้นเยาวชน จึงแนะนำนักเรียนอยู่เสมอว่าเวลาโพสต์เรื่องราวต่างๆ บนโซเชี่ยลต้องระมัดระวังไม่ให้ไปละเมิดสิทธิคนอื่น เพราะผู้ที่เดือดร้อนจากการกระทำของเรามีสิทธิ์ฟ้องได้”

กันตินันทิ์ ศรียะพันธ์

ด.ช.กันตินันทิ์ ศรียะพันธ์ นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร แสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาการใช้สื่อ โซเชี่ยลของเด็กวัยรุ่นว่า “การโพสต์เรื่องต่างๆ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ควบคุมอารมณ์และความคิดไม่ได้ และยังไม่รู้กฎหมายคอมพิว เตอร์อย่างถ่องแท้ ทำให้เกิดความเสียหายตามมา หลังจากได้เข้าร่วมโครงการแล้ว สิ่งที่เป็นประโยชน์มากที่สุดคือการรับรู้เรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในการใช้สื่อโซเชี่ยลอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการแชร์สิ่งต่างๆ ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะการใช้สื่อโซเชี่ยลเป็นปัจจัยที่ 5 ของคนเราในยุคปัจจุบันเลยก็ว่าได้ ถ้าเรารู้เท่าทันสามารถป้องกันตัวเองจากโลกโซเชี่ยลได้ รวมทั้งนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปบอกต่อคนในครอบครัวให้ระมัดระวังในการแชร์ข้อมูลมากขึ้น”

ณัฏฐนัน หิรัญอนัญภัทร์

นายณัฏฐนัน หิรัญอนัญภัทร์ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย กล่าวว่า “ในฐานะที่เป็นตัวแทนเยาวชนนักสืบสายชัวร์ นอกจากเริ่มที่ตัวเองแล้วยังสามารถขยายผลไปสู่ครอบครัวได้ด้วยการเช็กข้อมูลหรือเช็กแหล่งที่มาของข่าวว่าน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ปัจจุบันปัญหาที่น่ากลัวมากที่สุดในโลกโซเชี่ยลคือความถูกต้องของแหล่งข่าว ไม่ว่าจะเป็นข่าวการเมือง ข่าวการศึกษา และข่าวซุบซิบ สามารถส่งผลกระทบต่อตัวบุคคลได้อย่างรวดเร็ว”

นักสืบสายชัวร์ 

ติดตามรับชมภาพบรรยากาศการจัดกิจกรรมในรายการ “นักสืบสายชัวร์” ออกอากาศทุกจันทร์-อังคาร เวลา 21.00-21.30 น. ทางช่อง 14 MCOT Family และรายการ “ชัวร์ก่อนแชร์เยาวชน” ออกอากาศทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 12.55-13.00 น. ทางช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 ในเดือนกันยายนนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน