จักรพรรดิราช (ตอนจบ)

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย น้าชาติ ประชาชื่น

จักรพรรดิราช (ตอนจบ) – ต่อจากฉบับที่แล้ว“พุดชมพู” ขอความหมายของ จักรพรรดิราช ต่างจากกษัตริย์อย่างไร เมื่อวานตอบถึงความหมายแล้ว วันนี้อ่านต่อถึงพิธีกรรมที่นำสู่สถานะพระจักรพรรดิราช คำตอบนำมาจากบทความ “จักรพรรดิราช : พิธีกรรมและสัญลักษณ์” ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ เขียนไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม

จักรพรรดิราช (ตอนจบ)

คติเรื่องพระจักรพรรดิราชในพระพุทธศาสนา แรกปรากฏขึ้น ในช่วงรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.275-311) แห่งราชวงศ์เมาริยะเป็นอย่างน้อย รูปสลักพระจักรพรรดิราชที่พบอยู่มากในศิลปะอินเดียโบราณโดยเฉพาะที่จำหลักขึ้นในรัชสมัยของพระองค์นั้น มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะหมายถึงองค์พระเจ้าอโศกเองด้วย

ดังนั้น พระจักรพรรดิราชจึงไม่ได้ล่องลอยอยู่เฉพาะในโลกของปรัมปราคติ แต่ถูกนำมาสวมทับเข้ากับบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง เพื่อผลประโยชน์การใดการหนึ่ง และการที่กษัตริย์จะมีสถานะเป็นพระจักรพรรดิราชได้นั้น จำเป็นต้องมีการประกอบพิธีกรรมเพื่อให้กษัตริย์มีฐานะประดุจดั่งพระเป็นเจ้า ซึ่งตามความหมายอย่างเก่า หมายถึง พระอินทร์ ผู้เป็นราชาเหนือหมู่เทพทั้งหลาย แล้วค่อยเกลื่อนกลายมาเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ในยุคหลังพระเวทอย่างพระศิวะและพระวิษณุ อย่างที่คุ้นเคยกันมากกว่า โดยเฉพาะในกรณีของพระวิษณุ คัมภีร์ปุราณะบางฉบับถึงกับถือว่า พระจักรพรรดิราชเป็นอวตารหนึ่งของพระองค์เลยทีเดียว

พิธีกรรมดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกและรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละตำรา แต่อนุโลมเรียกรวมๆ กันว่า พิธีราชสูยะ ซึ่งได้แพร่หลายเข้าไปในหมู่ชนที่ยอมรับนับถือพระศาสนาจากชมพูทวีป ไม่ว่าจะพุทธหรือว่าพราหมณ์ก็ดี อาจกล่าวได้ด้วยว่า พิธีดังกล่าวเป็นต้นเค้าที่มาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปัจจุบัน

กลวิธีในการสร้างความชอบธรรมอีกประการหนึ่งที่มักปรากฏอยู่เสมอคือการสร้างรูปเคารพของเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เพื่อหลอมรวมกษัตริย์ผู้สร้างเข้ากับเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์พระองค์นั้น

อนึ่ง การหลอมรวมตัวเองเข้ากับเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่สิ่งที่มีมาก่อนในวัฒนธรรมแม่แบบของพราหมณ์ในชมพูทวีป แต่เป็นคติพื้นเมืองอุษาคเนย์ที่พบได้ทั้งในอารยธรรมขอม จาม ชวา และแม้กระทั่งในไทย

การสร้างความชอบธรรมของกษัตริย์ให้มีฐานะประดุจเทพเจ้า แม้จะเริ่มต้นและสร้างเสริมด้วยพิธีพราหมณ์ แต่ก็จำเป็นต้องใช้สัญลักษณ์บางอย่างในการสร้างสิทธิธรรมนั้นด้วย ลักษณะอย่างนี้อาจเห็นได้ชัดจากเครื่องราชูปโภคต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องราชกกุธภัณฑ์

จักรพรรดิราช (ตอนจบ)

แนวคิดเกี่ยวกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์มีปรากฏมาตั้งแต่โบราณแล้ว ดังปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุของจิวตากวน ชาวจีนที่เดินทางเข้าไปในเมืองพระนครหลวง (นครธม) ประเทศกัมพูชา เมื่อราวพ.ศ.1839 ได้กล่าวถึงพระแสงขรรค์ชัยศรี ซึ่งถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งพระมหากษัตริย์ที่สืบเนื่องมาเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของสยามมาตั้งแต่ยุคอยุธยาและสืบเนื่องจนมาถึงยุครัตนโกสินทร์

จารึกสุโขทัยหลักที่ 2 ซึ่งได้มาจากวัดศรีชุม มีข้อความระบุว่า ผีฟ้าแห่งเมืองยโสธรปุระ (หมายถึงกษัตริย์แห่งนครธม หรือเมืองพระนครหลวง) ได้พระราชทานพระแสงขรรค์ชัยศรีพร้อมกับพระราชธิดาของพระองค์ให้กับพ่อขุนผาเมือง พระแสงขรรค์ชัยศรีจึงเป็นสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงเข้ากับอำนาจของผีฟ้าแห่งเมืองยโศธรปุระ พร้อมกับที่เชื่อมโยงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงครองพระแสงขรรค์องค์นั้นเข้าอำนาจของอารยธรรมอันเรืองรองของเมืองพระนครหลวง

ในส่วนของราชสำนักไทยสมัยรัตนโกสินทร์ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ของพระมหากษัตริย์ประกอบไปด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี พัดโบกวาลวิชนี ธารพระกร และฉลองพระบาทเชิงงอน นับรวม 5 ประการ จึงเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า เบญจราชกกุธภัณฑ์ ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์และใช้ประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เครื่องราชกกุธภัณฑ์จึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แทนองค์พระจักรพรรดิราชตามที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ซึ่งแม้ว่าจะแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ก็เชื่อได้ว่ามีต้นเค้าที่มาอยู่ไม่มากก็น้อย

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน