ชีวิตใหม่ใต้ร่มพระบารมี ‘สมเด็จพระพันปีหลวง’ : ข่าวสดสตรี

ชีวิตใหม่ใต้ร่มพระบารมี ‘สมเด็จพระพันปีหลวง’ – เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์กรมหาชน) หรือ SACICT

จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ โดยจัดแสดงพระราชกรณียกิจของทั้งสองพระองค์ในการส่งเสริมสนับสนุนงานศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมไทย ภายใต้ชื่องาน “ชีวิตใหม่ ใต้ร่มพระบารมี ครั้งที่ 2” ระหว่างวันที่ 8-12 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ชั้น M ควอเทียร์แกลอรี่ และชั้น G ควอเทียร์อเวนิว

ชีวิตใหม่ใต้ร่มพระบารมี

ชีวิตใหม่ใต้ร่มพระบารมี

ภายในงานรวบรวมงานหัตถศิลป์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และสมาชิก SACICT รวม 55 ร้าน อาทิ ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าแพร เครื่องประดับ เครื่องทองโบราณ เครื่องเงินสุโขทัย งานเครื่องถม งานศิลปหัตถกรรมไทยต่างๆ ร่วมด้วยกิจกรรมเวิร์กช็อป การเสวนา และการแสดงชนเผ่า

ชีวิตใหม่ใต้ร่มพระบารมี

โอกาสนี้ นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ว่าทุกปีในเดือนสิงหาคมจะจัดงานเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ปีนี้จัดงาน “ใต้ร่มพระบารมี” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ทรงฟื้นฟูงานศิลปหัตถกรรมไว้มากมาย ถ้าไม่มีพระองค์ท่านงานเอกลักษณ์เหล่านี้อาจสูญหายไปแล้ว งานแบ่งออกเป็นสองส่วน

ชีวิตใหม่ใต้ร่มพระบารมี

อัมพวัน

ส่วนแรก งาน “หัตถกรรมแห่งบรรพชนไทย ใต้ร่มพระบารมี” เพราะเล็งเห็นว่างานช่างฝีมือต่างๆ เหล่านี้มีผู้สะสมอยู่จำนวนมาก จึงนำออกมาโชว์ให้คนมาเรียนรู้ ชื่นชม อีกส่วนคืองาน “ชีวิตใหม่ ใต้ร่มพระบารมี ครั้งที่ 2” นำกลุ่มชาวเขาที่เข้ารวมกลุ่มด้านหัตถกรรมมาออกบูธขายสินค้า ผ้าทอ เครื่องเงินต่างๆ เพื่อเผยแพร่ชิ้นงาน

ชีวิตใหม่ใต้ร่มพระบารมี

“คุณค่าของเหล่านี้เป็นวิถีชีวิตของเขา ของชาวบ้าน ชนเผ่าต่างๆ ที่ตกทอดกันมารุ่นสู่รุ่น ผลิตของใช้ในครัวเรือน พระองค์ท่านทรงเล็งเห็นว่าของเหล่านี้งดงาม เป็นวัฒนธรรม เป็นศิลปะที่ดี ให้ผลิตเพื่อเป็นรายได้เสริม หากงานหัตถกรรมยังเฟื่องฟูอยู่ก็เป็นรายได้เสริมของชาวบ้านได้ หรือใครที่ไม่มีที่ทำกินก็ทำงานหัตถกรรมเป็นรายได้หลัก ตอนนี้วัยรุ่นฮิตถือย่าม นุ่งผ้าซิ่น นำมาใช้ได้จริงในปัจจุบัน จุดมุ่งหมายของพระองค์ท่านแต่เริ่มคือการเก็บรักษางานหัตถกรรมของชาวบ้าน ให้ชาวบ้านทำงานหัตถกรรมเพื่อเป็นรายได้เสริม แต่ในวันนี้เป็นรายได้หลักด้วย เรามีครูช่างหัตถกรรมอยู่ในกลุ่มด้วย เมื่อครูช่างต่างๆ เป็นที่รู้จัก งานของครูแต่ละท่านก็เป็นที่ต้องการของตลาด แม้ครูช่างผลิตเองทั้งหมดไม่ได้

แต่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นได้ งานหัตถกรรมก็จะมีคนทำมากขึ้น สามารถถ่ายทอด รักษาต่อไปได้ ลูกๆ ได้เห็นก็ซึมซับต่อไป”

นางอัมพวันกล่าวต่อว่า ต่างชาติเห็นว่านี่คือกลุ่มชาติพันธุ์ เขาชอบงานพวกนี้อยู่แล้วเพราะมีเสน่ห์แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มชนเผ่า ทุกชาติชื่นชมพระราชปณิธานการสืบสานหัตถกรรมของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เราอยู่ใกล้สิ่งที่มีค่ามากที่สุด พอพระองค์ท่านเข้ามาคนก็หันมาชื่นชมสนใจงานเหล่านี้มากขึ้น ทรงเป็นผู้นำแฟชั่น งานผ้ามัดหมี่ งานผ้าจก จะสูญหายไปอยู่แล้วแต่พระองค์ท่านทรงบอกให้ชาวบ้านทำ อนุรักษ์ แล้วพระองค์ทรงซื้อมาขายพวกเราในราคาถูกๆ หรือทรงทำให้เห็นว่าควรตกแต่งอย่างไร

ทรงเป็นผู้นำในการสวมใส่ผ้าไทย ชาวบ้านอาจมองว่างานที่ทำจะไม่มีคนใช้หรือด้อยค่า แต่พระองค์ท่านทรงนำไปสวมใส่ให้เห็น ทุกคนชื่นชม ซาบซึ้ง เป็นกำลังใจให้ชาวบ้านทำและพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ

ชีวิตใหม่ใต้ร่มพระบารมี

“ตอนนี้เราเห็นงานผ้าไหมไทยไปอยู่ในงานไฮแฟชั่นแบรนด์ต่างๆ มากขึ้น เราจะสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน อนุรักษ์และส่งต่องานเหล่านี้ไปยังคนรุ่นใหม่ ทำให้เกิดการต่อยอด สร้างงานสร้างรายได้ต่อไป” ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศกล่าว

นางสมศรี ปรีชาอุดมการณ์ อายุ 50 ปี ครูช่างศิลปหัตถกรรม ด้านผ้าทอกะเหรี่ยง กลุ่มทอผ้าบ้านแม่มิงค์ จ.เชียงใหม่ ร่วมบอกเล่าว่าเมื่อก่อนชาวบ้านทอผ้าใช้เอง พอทางการเข้าไปเห็นก็แนะนำให้เราเข้ากลุ่มครูช่างของแผ่นดิน เข้าไปอบรมงานด้านผ้าทอ ผ้าปกาเกอะญอ ได้เป็นวิทยากรและมีโอกาสเฝ้าฯ รับเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง จำได้แม่นพระองค์ท่านทรงฉลองพระองค์ผ้าปกาเกอะญอ เราเห็นก็ปลื้มใจมาก งดงามมาก สวมใส่แล้วทรงพระสิริโฉมมาก ภูมิใจน้ำตาไหล

ชีวิตใหม่ใต้ร่มพระบารมี

สมศรี

คนรู้จักชุดชนเผ่ามากขึ้น หันมาสนใจผ้าปกาเกอะญอของเรามากขึ้น ผ้าของเรามีเอกลักษณ์ ใครเห็นก็รู้ว่านี่คือผ้าปกาเกอะญอ จากที่เคยทอใช้กันเอง ทอเป็นอาชีพเสริม ก็หันมาทอผ้าส่งออกขายกันมากขึ้นจนกลายเป็นอาชีพเสริมรายได้ที่ดีมาก สามารถนำเงินมาดูแลครอบครัวให้อยู่ดีกินดีได้

“จะสืบสานงานของเราอันเป็นพระราชปณิธานของพระองค์ท่านต่อไป จะทอผ้าต่อไป อยากให้คนหันมาสนใจผ้าปกาเกอะญอเยอะๆ อยากฝากคนรุ่นหลังด้วยว่าเรายังมีเอกลักษณ์อยู่นะ อยากให้หันมาสนใจกันเยอะๆ และเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคมนี้ ขอให้พระพันปีหลวงอยู่กับพวกเราไปนานๆ ขอให้พระองค์ท่านอยู่ดีมีสุข พระองค์ท่านเป็นแม่ที่ยิ่งใหญ่ของพวกเรา รักพระองค์ท่านมาก” ครูสมศรีกล่าว

ชีวิตใหม่ใต้ร่มพระบารมี

ดอกแก้ว

ด้าน นางดอกแก้ว ธีระโคตร อายุ 69 ปี ครูช่างศิลปหัตถกรรม ชาวไทลื้อ จ.เชียงราย เล่าว่าชาวบ้านทอผ้ากันอยู่แล้ว เมื่อพระพันปีหลวงได้พบ จากนั้นก็ได้เข้ามาอยู่ในกลุ่มของ ศศป. เขาให้ชาวบ้านมารวมกลุ่มกัน ก็ได้ทอผ้าส่งขายมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ เสริม ปีไหนแล้งจัดอย่างปีนี้ก็มีเวลาทอผ้ามากขึ้น มีรายได้เสริมมาเลี้ยงปากท้อง

“นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระพันปีหลวงที่ทอดพระเนตรเห็นพวกเรา เมตตาชาวเผ่ามาตลอด เราจะทอผ้าต่อไปและส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้ลูกหลาน ขอให้พระพันปีหลวงทรงอายุยืนนาน อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรที่ยิ่งใหญ่คู่บ้านคู่เมืองของเราไปนานๆ” ครูดอกแก้วกล่าวถวายพระพรชัยมงคล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน