บูลลี่ (ตอนแรก) : รู้ไปโม้ดโดย…น้าชาติ ประชาชื่น

บูลลี่ – น้าชาติ ที่พูดกันว่า บูลลี่ ถูก บูลลี่ คืออะไร เป็นยังไงคะ ป้องกันได้ไหมไม่ให้น้องเจอ

ฮวย

ตอบ ฮวย

คำตอบนำมาจากอรรถาธิบายของ ผศ.ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้วิจัยเรื่อง cyberbullying (ไซเบอร์ บูลลี่) ในประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย เผยแพร่ในเว็บไซต์ thepotential.org ว่า พฤติกรรมการแกล้งกัน (bully) ของเด็กเชื่อว่าเกิดจากเด็กไทยไม่มีเซลฟ์ (self) หรือการมองเห็นศักยภาพตัวเอง

น้าชาติ ประชาชื่น

เพราะเซลฟ์ของเด็กมักถูกผูกกับการศึกษาและความเก่งในห้องเรียน จากงานวิจัยที่เปรียบเทียบการกลั่นแกล้งกันระหว่างสองประเทศ พบว่าสังคมญี่ปุ่นจะแนะนำเด็กทุกคนในห้องได้อย่างเท่าเทียมและน่ารัก คนนี้ล้างจานได้สะอาด คนนี้พับนกกระดาษได้เก่ง มีไม่กี่คนเท่านั้นที่จะถูกแนะนำว่าเรียนเก่ง นอกนั้นจะเป็นเรื่องทั่วไปในบ้าน

การทำเช่นนี้ทำให้ทุกคนมีที่ยืน ถูกผลักออกมาข้างหน้าโดยเสมอกัน ทำให้เกิดการมองเห็นและเคารพกันว่าทุกคนมีดี มีความแตกต่างหลากหลาย เมื่อหลากหลายจึงไม่มีใครเหนือกว่าใคร หรือมีใครต่างจากใคร ไม่มีใครเป็นไอ้โง่ ไม่มีใครควรจะถูกแกล้ง

เวลาที่เด็กจะแกล้งใครเพราะเขารู้สึกว่ามันไม่เท่า มันไม่เหมือน มันต่าง จึงแกล้งเพื่อความสะใจบางอย่าง

ซึ่งมีทั้งที่คิดว่าตัวเองด้อยกว่าและเหนือกว่า คนที่คิดว่าตัวเองเหนือกว่าจะมีความภูมิใจของตัวเอง มองว่าฉันเหนือกว่าทุกคน แล้วจึงไปแกล้งคนอื่น ส่วนคนที่ด้อยกว่า เมื่อตัวเองรู้สึกไม่มีที่ยืนเลยต้องไปหาที่ยืนใหม่โดยใช้วิธีไปแกล้งคนอื่น แม้จะได้ผลในทางลบแต่มันทำให้มีตัวตนขึ้นมาทันที

น้าชาติ ประชาชื่น

สำหรับเด็กไทยขาดเซลฟ์เพราะพ่อแม่ ครู หรือทุกๆ อย่างที่พยายามบอกว่า เด็กดีจะต้องเป็นเด็กเรียนเก่ง คำว่า ดี ไม่จำเป็นต้องเรียนก็ได้ ดีในเรื่องอื่นๆ ก็ได้ แต่เราฝังความเชื่อเรื่องนี้มานาน ดีกับเก่งจะต้องอยู่ในคนเดียวกัน พอไม่เรียนก็จัดเป็นเด็กไม่ดี จริงๆ มีเด็กหลายคนที่ไม่ถนัดเรียน

แต่ชอบที่จะทำในด้านอื่นๆ อยากจะออกไปทำงานตั้งแต่อายุน้อยๆ หรืออยากจะเรียนในสิ่งที่โรงเรียนไม่มีบ้าง อยากจะเรียนพับเครื่องบินก็ไม่มี เด็กถูกกดดันให้ทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่เป็นคนเลือก ซึ่งอาจจะไม่ใช่ตัวตนของเขาจริงๆ

ขณะที่ครอบครัวกับเด็กบูลลี่คนอื่น ยกกรณีจากเคสของเกาหลีใต้มีเด็กชายคนหนึ่ง เรียนเก่ง มาจากครอบครัวที่มีเงิน เรียนในโรงเรียนใกล้บ้านซึ่งมีเด็กคละๆ กันไป เด็กชายคนนี้มีนิสัยชอบแกล้งคนอื่น ดูถูกเหยียดหยาม คุณครูจึงคุยกับพ่อแม่ของเด็กว่าจะต้องมอบบทเรียนอันมีค่าให้กับเขา เพื่อให้เขาโตขึ้นไปไม่ทำนิสัยแบบนี้กับใคร

เมื่อพ่อแม่และโรงเรียนตกลงกันได้แล้วจึงจัดสถานการณ์จำลองโดยให้เพื่อนเหยียดหยามเขาคืนติดต่อกัน 3 วัน เมื่อเขากลับไปร้องไห้ที่บ้าน ให้เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ในการสอนลูก ให้เขาระลึกว่าเคยไปทำแบบนี้กับใครหรือไม่

เมื่อไปโรงเรียนในวันรุ่งขึ้น ครูและเพื่อนเข้ามากอดปลอบและบอกกับเด็กชายคนนี้ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นใน 3 วันนี้จะสอนให้เขารู้ว่า

น้าชาติ ประชาชื่น

ถ้าเราไม่รักหรือไม่ชอบอะไร เราก็ไม่ควรทำสิ่งนั้นกับคนอื่น อย่างไรก็ตาม แต่วิธีนี้จะได้ผลต่อเมื่ออยู่บนความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบ้านและโรงเรียน จึงต้องกลับมาตั้งคำถามว่าโรงเรียนในประเทศไทยจะทำวิธีนี้ได้ไหม

แบบไหนถึงเรียกว่า บูลลี่ การกลั่นแกล้งมีทั้งหมด 3 ระดับ หนึ่ง คนแกล้งจะต้องมีเจตนา ไม่ล้อเล่น, สอง คนที่ถูกแกล้งจะต้องรู้สึกเจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นทางกาย วาจา ใจ และสาม เกิดการ กระทำต่อเนื่องเพราะเจตนาของคนแกล้งยังคงอยู่

เมื่อเด็กทำครั้งแรกและรู้ว่าเพื่อนไม่ชอบ ควรจะหยุด ไม่ควรเกิดครั้งที่สองและครั้งที่สาม ถ้ายังเกิดขึ้นอีกแสดงว่ามีเจตนาแอบแฝง พฤติกรรมการ บูลลี่ หรือการรังแกคนอื่น ต้องเข้าเงื่อนไข 3 ข้อนี้

ฉบับพรุ่งนี้ (27 ..) ติดตามบทบาทของบ้านกับโรงเรียน สร้างภูมิคุ้มกันเด็กไม่ให้เป็นจอมบูลลี่

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน