กระดูกพรุน ภัยเงียบทุกเพศทุกวัย

สัญญาณเตือน‘มือ-แขน-แตกหักง่าย’

คอลัมน์ ข่าวสดสุขภาพ

กระดูกพรุน – “กระดูกพรุน” เป็นโรคที่หลายคนมองข้าม เพราะคิดว่าเป็นโรคที่เกิดแต่กับผู้สูงอายุ แต่แท้ที่จริงแล้ว กระดูกพรุนสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย หากไม่ดูแลรักษาหรือตรวจสุขภาพประจำปี อาจทำให้เป็นโรคกระดูกพรุนได้โดยไม่รู้ตัว

นพ.สุชาติ ฉายเพิ่มศักดิ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางข้อเข่าและสะโพก ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลหัวเฉียว กล่าวว่า โรคกระดูกพรุนเป็นภัยเงียบที่ไม่มีอาการใดบ่งบอกแน่ชัดว่าเป็นโรคกระดูกพรุน หากไม่ตรวจสุขภาพหรือสงสัยอาการผิดปกติจริงๆ ผู้ป่วยก็จะคิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งผู้ป่วยอาจทราบได้ก็ต่อเมื่อมีอาการแสดง

กระดูกพรุน ภัยเงียบ

นพ.สุชาติ ฉายเพิ่มศักดิ์

แต่สังเกตอาการเบื้องต้นได้ว่าเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน โดยสังเกตจากกระดูกข้อมือ แขน สะโพก และกระดูกสันหลังแตกหักได้ง่าย แม้ถูกกระแทกแบบไม่รุนแรง หลังค่อม หรือกระดูกสันหลังส่วนบนโค้งลง ความสูงลดลง อาจมีอาการปวดหลังเรื้อรังด้วย

ในส่วนของสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคกระดูกพรุน มีด้วยกันหลายกรณี เช่น อายุ ด้วยวัยที่เพิ่มมากขึ้น กระบวนการเจริญเติบโตของร่างกายจะเริ่มช้าลง การทดแทนกระดูกส่วนที่สึกหรอก็จะเป็นไปได้ช้า ฮอร์โมน การลดระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen)

ในเพศหญิงอย่างการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก็อาจทำให้กระดูกพรุนและเปราะบาง ส่วนในเพศชายจะมีความเสี่ยงเกิดโรคกระดูกพรุนเมื่อมีการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) น้อยลง กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีญาติใกล้ชิดทางสายเลือดมีประวัติป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับพันธุกรรมของโรคดังกล่าวไปด้วย

พฤติกรรมการบริโภค กินอาหารที่มีแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในการสร้างกระดูก และการเจริญเติบโต หรือกินอาหารที่ทำให้แคลเซียมเสียสมดุล อย่างอาหารจำพวกโปรตีนจากเนื้อสัตว์ซึ่งมีความเป็น กรดสูง ดื่มน้ำอัดลม ชา กาแฟหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ติดต่อกันปริมาณมากเป็นเวลานาน

กระดูกพรุน ภัยเงียบ

พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน การนั่งหรืออยู่ในอิริยาบถเดิมๆ หรือเป็นเวลานานๆ อยู่ในที่โล่งไม่โดนแสงแดด จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้สูง การใช้ยาบางชนิด ผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยการใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานานก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนเช่นกัน เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์ เป็นต้น

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อให้แพทย์เป็นผู้ประเมินอาการเบื้องต้นเพื่อสุขภาพที่ดีที่เริ่มได้ที่ตัวเรา

ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลหัวเฉียว มีทีมแพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการให้บริการและให้คำแนะนำป้องกัน และให้การรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วและปลอดภัยขึ้น

อ่าน : โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด แพทย์เตือนปวดหลังเรื้อรัง-อย่าชะล่าใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน