กะเหรี่ยงถิ่นกำเนิด

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

กะเหรี่ยงถิ่นกำเนิด – เรื่องของชนชาวกะเหรี่ยงกำลังเป็นที่สนใจ อยากทราบว่าพื้นที่ดั้งเดิมของบรรพบุรุษอยู่ที่ไหน ทุกวันนี้เป็นอะไร

ใบตอง

ตอบ ใบตอง

มีคำตอบในบทความเรื่องกะเหรี่ยง ชนเผ่านักเล่านิทาน เรื่องเล่าแสนเศร้าสะท้อนความไร้อำนาจของตนเองเผยแพร่ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม www.silpa-mag.com อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือหกเผ่าชาวดอยโดย พอลและ อีเลน ลูอิส. จัดพิมพ์โดยหัตถกรรมชาวเขา (Thai Tribal Crafts) ว่ากะเหรี่ยงหรือที่ภาษาเหนือ (คำเมือง) เรียกว่ายางเป็นชื่อของชาวเขาเผ่าใหญ่ที่สุดซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในทั้งประเทศไทยและพม่า

กะเหรี่ยงถิ่นกำเนิด

สำหรับในประเทศไทยชาวกะเหรี่ยงจำแนกออกเป็น 4 พวก ได้แก่ สะกอ โปว ป่าโอ และค่ายา (คะยา) โดยส่วนใหญ่เป็นพวกสะกอและโปว ขณะที่ป่าโอและค่ายาคิดเป็นเพียงร้อยละ 1 ของจำนวนประชากรกะเหรี่ยงทั้งหมดในไทย

ไม่มีใครรู้ว่าถิ่นฐานเดิมของชาวกะเหรี่ยงอยู่ที่ไหน มีแต่ตำนานที่เล่าขานกันมาว่า ถิ่นกำเนิดของกะเหรี่ยงคือที่ธิบิโกบิซึ่งมีคนสันนิษฐานว่าหมายถึงทิเบตและทะเลทรายโกบี

กะเหรี่ยงตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่ในประเทศพม่ามาแต่โบราณ จากนั้นจึงได้เดินทางข้ามแม่น้ำสาละวินเข้ามาในประเทศไทยในศตวรรษที่ 18 สาเหตุการอพยพ ชาวแม่ฮ่องสอนเล่าว่า แต่เดิมพื้นที่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงอยู่ตรงกลางระหว่างพม่ากับไทย

กะเหรี่ยงถิ่นกำเนิด

เมื่อสมัยที่ไทยและพม่ายังผลัดกันรบผลัดกันรุกรานดินแดน กะเหรี่ยงที่อยู่ตรงกลางก็มักจะตกที่นั่งลำบาก ถูกฝ่ายที่มารุกดินแดน ไม่ไทยก็พม่า จับต้อนไปเป็นเชลยให้จัดเสบียงอาหารให้บ้าง ให้นำทางบ้าง ในช่วงที่ถูกจับต้อนไปต้อนมานี้เอง กะเหรี่ยงบางคนก็อาจจะได้หมายตาดินแดนสำหรับตั้งรกรากใหม่ในไทยที่ดูแล้วน่าจะสงบกว่าถิ่นฐานเดิม

อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นดินแดนไทยปัจจุบัน หรือฟากตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน เดิมเป็นพื้นที่ครอบครองของโยนก ดังนั้น เมื่อกะเหรี่ยงย้ายมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้จึงได้เข้ากับโยนก ต่อมาเมื่อชาวโยนกอพยพย้ายถิ่นฐานเข้าสู่ล้านนาไทยแถบแม่สะเรียงถึงเชียงใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวลัวะ

ชาวกะเหรี่ยงก็ติดตามมาด้วย ที่ดินแดนเดิมของลัวะ ชาวกะเหรี่ยงได้ตั้งหลักแหล่งของตนอยู่ใกล้กับหมู่บ้านลัวะ ทำให้มีโอกาสติดต่อกัน เกิดการรับวัฒนธรรมของลัวะเข้ามาไว้ในวิถีชีวิตดังจะพบเห็นได้มากในจ.แม่ฮ่องสอน

ชาวกะเหรี่ยงได้ชื่อว่าเป็นนักเล่านิทานชั้นยอด ยามค่ำคืนมักตั้งวงนั่งล้อมรอบกองไฟ ผลัดกันเล่าผลัดกันฟังนิทาน ทั้งที่แต่งขึ้นเองใหม่บ้าง หรือยกตำนานมาเล่าขานบ้าง ซึ่งพบว่ามีแต่เรื่องโศกเศร้าไม่หนีไปจากเรื่องชีวิตที่ต้องเผชิญแต่กับความอาภัพอับจน

กะเหรี่ยงถิ่นกำเนิด

นิทานอันแสนเศร้าของชาวกะเหรี่ยงเป็นเหมือนกระจกสะท้อนความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในชนชาติของตนที่ไร้ซึ่งอำนาจปกครอง ไร้ซึ่งที่อยู่อาศัย ถูกมองว่าเป็นภาระ คำว่า กะเหรี่ยง กลายเป็นคำที่แฝงความหมายลบในภาษาไทย หนำซ้ำในบางครั้งยังได้รับบทเป็นตัวร้ายในละครไทยบางเรื่อง

ข้อมูลจากวิกิพีเดีย ระบุว่า กะเหรี่ยง, กะเรน, กะยีน, หรือ ยาง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง มีภาษาพูดเรียกว่าภาษากะเหรี่ยง จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีนทิเบต อาศัยอยู่มากในรัฐกะเหรี่ยง ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า มีประชากรประมาณร้อยละ 7 ของประชากรชาวพม่าทั้งหมด หรือประมาณ 5 ล้านคน ชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากอพยพมาอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่อาศัยตามแนวชายแดนไทยพม่า

กลุ่มชนกะเหรี่ยงมักถูกเข้าใจสับสนกับ กะยัน ชนเผ่าที่ผู้หญิงสวมห่วงทองเหลืองไว้ตลอดลำคอ แต่กะยันเป็นเพียงหนึ่งในกลุ่มย่อยของกะเหรี่ยงแดง (คะเรนนี) ซึ่งเป็นหนึ่งในชนเผ่าคะยาในรัฐกะยาของพม่า

คำว่า กะเหรี่ยง กะเรน สันนิษฐานว่ามาจากภาษามอญที่ใช้เรียกชาวปกาเกอะญอ โดยออกเสียงว่า เกรียง หรือ เกรียน แปลว่า เรียบ ซึ่งตรงกับความหมายของคำว่า ปกาเกอะญอ ที่แปลว่า คนเรียบง่าย และอาจมีความเชื่อมโยงกับชื่อกลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานที่มีอยู่ในทิเบต เนปาล เรียกว่า กะยูปา หรือ ปากะญู ซึ่งมักแต่งกายด้วยชุดสีขาว วิถีชีวิตสมถะ ความเชื่อนี้อาจแพร่หลายเข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิเมื่อกว่าพันปีก่อน

กะเหรี่ยงมีด้วยกันหลายกลุ่มย่อย มีชื่อเรียกต่างๆ กัน ทั้งยังมีประเพณี ความเชื่อ ความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน ในประเทศไทยมี 4 กลุ่มย่อยคือ สะกอ หรือ ยางขาว เรียกตัวเองว่า ปกาเกอะญอ, โป เรียกตัวเองว่า โพล่, ปะโอ หรือ ตองสู และบะเว หรือ คะยา

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน