6 ตุลา : คอลัมน์ รู้ไปโม้ด โดย น้าชาติประชาชื่น

น้าชาติช่วยสรุปเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ขวัญชนก

ตอบ ขวัญชนก

มีคำตอบกระชับอยู่ในบทความเรื่อง “6 ตุลาคม 2519 : เจ้าหน้าที่รัฐสังหารหมู่นักศึกษากลางธรรมศาสตร์, ทหารฉวยโอกาสยึดอำนาจ” เผยแพร่ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม www.silpa-mag.com ว่า จากเหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนใน วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ได้ทำให้รัฐบาลเผด็จการทหารของ จอมพลถนอม กิตติขจร พ้นจากอำนาจ และต้องเดินทางออกนอกประเทศพร้อมจอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร

แต่นับตั้งแต่กลางปี 2518 มีสัญญาณว่าเผด็จการทหาร กลุ่มเดิมกำลังวางแผนที่จะกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง และใน วันที่ 19 กันยายน 2519 ถนอมที่ถูกขับไล่ออกนอกประเทศและลี้ภัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ก็ได้เดินทางกลับประเทศไทยด้วยการบวชเป็นสามเณรเข้ามา โดยอ้างต่อสาธารณชนว่า ตนจะอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ มิได้มุ่งแสวงหาอำนาจ และต้องการมาเยี่ยมบิดาที่ใกล้ถึงแก่กรรม

สามเณรถนอมออกจากสนามบินมุ่งตรงไปยังวัดบวร นิเวศวิหารเพื่อเข้ารับการอุปสมบท แต่มวลชนจำนวนมากยังไม่เชื่อว่าสามเณรถนอมปรารถนาความหลุดพ้นจริงๆ (สุดท้ายเขาก็สึกในปีต่อมา ก่อนเรียกร้องให้รัฐบาลคืนทรัพย์สินที่ถูกยึดไปด้วยข้อหาทุจริต) จึงพากันออกมาประท้วง

นักกิจกรรมถูกตอบโต้กลับอย่างรุนแรง ในวันที่ 24 กันยายน 2 พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคถูกฆ่าแขวนคอขณะออกไปปิดใบประกาศประท้วงการกลับ มาของถนอม จากนั้นในวันที่ 4 ตุลาคม นักศึกษาได้แสดงละครแขวนคอเพื่อประท้วงการใช้ความรุนแรงซึ่งเชื่อว่าเจ้า หน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง และต่อต้านความพยายามใดๆ ที่จะนำพาประเทศกลับสู่ระบบเผด็จการอีกครั้ง

6ตุลา

วันต่อมา “ดาวสยาม” หนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาได้กล่าวหานักศึกษาที่แสดงละครแขวนคอว่าหมิ่นพระบรมโอ รสาธิราช พร้อมด้วยข้อหาล้มสถาบันกษัตริย์ ภาพจากหนังสือพิมพ์ดาวสยาม (ซึ่งถกเถียงกันว่ามีการตกแต่งภาพหรือไม่ และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับอื่นมีส่วนสมคบคิดกับดาวสยามหรือไม่) ถูกนำไปปลุกระดมให้ลูกเสือชาวบ้านและกลุ่มฝ่ายขวาอื่นๆ เข้าปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีนักศึกษานับพันคนชุมนุมประท้วงกัน อยู่

วันที่ 6 ตุลาคม คือวันที่เกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อกองกำลังติดอาวุธซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐอย่างตำรวจตระเวนชายแดนและลูก เสือชาวบ้านเป็นแกนนำ ใช้กำลังเข้าทารุณกรรมและสังหารชีวิตของนักศึกษาอย่างไร้ปรานี ด้วยข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 46 ราย (บางแหล่งอ้างถึงหลักร้อยราย)

การที่กองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนซึ่งมิได้ ประจำการอยู่ในกรุงเทพฯ ได้เคลื่อนพลเข้ามากวาดล้างนักศึกษาในครั้งนี้ รัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ยืนยันว่ามิได้เป็นผู้ออกคำสั่ง เสนีย์ยังอ้างว่ามิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการสังหารหมู่ โดยกล่าวว่ารัฐบาลสั่งให้เจ้าหน้าที่จับกุมตัวนักศึกษาที่มีส่วนกับการแสดง ละครแขวนคอเท่านั้น มิได้สั่งให้ยิงนักศึกษาแต่อย่างใด

6 ตุลา

เหตุสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นกลายเป็นข้ออ้าง ให้พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ประกาศยึดอำนาจ พร้อมกล่าวประณามนักการเมืองและความไร้ประสิทธิภาพของระบอบประชาธิปไตย “เราตั้งความหวังกับประชาธิปไตยไว้สูงเกินไป คนที่ได้รับมอบอำนาจก็ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ เราจะใช้โอกาสนี้ทำการปฏิรูปในทุกระดับ จากนั้นเมื่อสถานการณ์เข้าสู่สภาวะสงบเรียบร้อยแล้ว เราจึงจะมอบอำนาจคืนให้กับรัฐบาลพลเรือนอีกครั้ง” (นิวยอร์ก ไทม์)

หลังยึดอำนาจ คณะรัฐประหารได้แต่งตั้งธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตผู้พิพากษา เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในสมัยของเขาได้เริ่มการดำเนินคดีกับนักศึกษา 3,000 คน ที่ถูกจับกุมในธรรมศาสตร์ แต่การพิจารณาคดีกลับกลายเป็นการเปิดเผยให้เห็นความเลวร้ายของฝ่ายรัฐเสีย เอง

สุดท้ายรัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่เข้ามาแทนที่ธานินทร์ตามมติของคณะปฏิวัติ ได้นิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ทำให้นักศึกษาพ้นจากการดำเนินคดี แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้ที่มีส่วนกับ ความรุนแรงไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับโทษในภายหลังเช่นกัน

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน