ประติมานุสรณ์ 6 ตุลาคม 2519

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

ประติมานุสรณ์ 6 ตุลาคม 2519 – อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาอยู่ที่ สี่แยกคอกวัว แล้วอนุสรณ์สถานเหตุการณ์ 6 ตุลา มีไหมครับ อยู่ที่ไหน

น้ำมนต์

ตอบ น้ำมนต์

สวนประติมากรรมกำแพงประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ประติมานุสรณ์ 6 ตุลาคม 2519” ตั้งอยู่บริเวณประตูทางเข้า (ฝั่งสนามหลวง) ด้านหน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โดยสภามหาวิทยาลัยอนุมัติจัดสร้างชิ้นงานประติมานุสรณ์ 6 ตุลา เมื่อปี 2541 สร้างเสร็จปี 2543 เพื่อให้เป็นอนุสรณ์สถานของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่สะท้อนความทรงจำ 6 ตุลา ซึ่งแทรกอยู่ในพื้นที่ทุกตารางนิ้วของธรรมศาสตร์

รู้ไปโม้ด

มีรายละเอียดอยู่ในเว็บไซต์ themomentum.co เรื่อง ประติมานุสรณ์ พื้นที่ทางความทรงจำของ 6 ตุลา โดย สุธีร์ นครากรกุล ว่า ประติมานุสรณ์ 6 ตุลา เป็นความพยายามหนึ่งในการสร้างพื้นที่ทางความทรงจำเชิงกายภาพให้กับเหตุการณ์ที่ยังไม่มีที่ทางชัดในประวัติศาสตร์

นอกเหนือไปจากการเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ของอดีตแล้ว ยังมีบทบาทในแง่ของการคืนความเป็นมนุษย์ผู้มีตัวตนอยู่ในความทรงจำของญาติมิตรด้วย

รู้ไปโม้ด

ประติมานุสรณ์ 6 ตุลาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสวนประติมากรรม กำแพงประวัติศาสตร์: ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย อนุสรณ์สถานบอกเล่าและรำลึกถึงเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในอดีตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แผนจัดสร้างตั้งแต่การรื้อฟื้นเหตุการณ์ขึ้นครั้งแรกในวาระครบรอบ 20 ปี เมื่อพ.. 2539 ล้มเหลวลงอย่างไม่เป็นท่า เพราะ ไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ

กระทั่งการเสียชีวิตของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในปี 2542 จึงมีการรวบรวมเงินอุปถัมภ์บริจาค จนสามารถสร้างแล้วเสร็จในปีถัดมา นับแต่นั้นในงานรำลึกครบรอบเหตุการณ์ ประติมานุสรณ์ก็เป็นพื้นที่หลักสำหรับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้ผู้เสียชีวิต

ประติมากรรมหินแกรนิตสีแดง ขนาดยาว 6 เมตร สลักตัวหนังสือและตัวเลข ตุลา ๒๕๑๙เต็มพื้นที่ ด้วยความสูง 95 เซนติเมตร ทำให้เป็นอนุสรณ์สถานขนาดเล็กเมื่อเทียบกับอนุสรณ์สถานอื่นๆ

เมื่อเข้ามาดูใกล้ๆ จะมองเห็นประติมากรรมนูนสูงหล่อด้วยทองเหลืองรมดำ แสดงภาพนักศึกษาและประชาชนถูกยิง ตอกอก นั่งยาง และแขวนคอจากการสังหารหมู่ อยู่ตรงที่ว่างระหว่างตัวอักษรบนแผ่นหิน

รู้ไปโม้ด รู้ไปโม้ด

ชิ้นส่วนประติมากรรมเหล่านี้สร้างขึ้นด้วยรูปแบบเหมือนจริง (realism) การทำภาพเหมือนเป็นความพยายามบ่งบอกถึงตัวตนของต้นแบบ เป็นวิธีกลายสถานะจากการเป็นบุคคลบนภาพถ่ายมาสู่การมีตัวตนสัมผัสจับต้องได้ในรูปลักษณ์ของประติมากรรม พร้อมยังสามารถเทียบเคียงได้กับภาพถ่ายเหตุการณ์ต้นฉบับ ระบุได้ว่าใครเป็นใคร หรือนำมาจากภาพใด

ความจงใจการใช้ภาพอันรุนแรงจากเหตุการณ์ นอกจากต้องการสื่อสารแบบตรงไปตรงมาแล้ว ยังเป็นไปเพื่อเร่งเร้าความรู้สึกและอารมณ์ร่วมของคนดูอีกด้วย การจำต้องเข้ามาก้มมองดูในระยะใกล้ แล้วจึงเห็นภาพของประติมากรรมที่ชัดเจน ก็เน้นย้ำอย่างชัดแจ้งว่าเรื่องราวของ 6 ตุลานั้นเรียกร้องให้เข้าไปมองเห็นเป็นสำคัญ

ประติมานุสรณ์ตั้งอยู่บริเวณประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยฝั่งท้องสนามหลวง จุดเดียวกับที่กองกำลังของรัฐเข้าล้อมปราบนักศึกษาและประชาชน บริบทของพื้นที่ช่วยส่งผลให้การเล่าเรื่องของประติมานุสรณ์มีพลังยิ่งขึ้น จากสถานที่ซึ่งเกิดขึ้นจริงในเหตุการณ์

ด้านหลังและด้านข้างของประติมานุสรณ์ สลักรายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ สิ่งที่น่าสนใจคือ รายนามผู้เสียชีวิตที่จารึกนั้น ปรากฏชื่อของประชาชนฝ่ายขวาผู้ชนะจากเช้าวันพุธที่ 6 ตุลาคม 2519 รวมอยู่ด้วย

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน