กบฏบวรเดช (ตอนแรก)

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด โดย น้าชาติประชาชื่น

 

ขอทราบรายละเอียดเหตุการณ์กบฏ บวรเดช

จีนะ

ตอบ จีนะ

กบฏบวรเดช (ตอนแรก) – นักวิชาการสังคมศาสตร์ ณัฐพล ใจจริง กล่าวถึงเหตุเบื้องต้นที่ทำให้เกิดกบฏบวรเดชไว้ในศิลปวัฒนธรรมว่า เหตุการณ์กบฏบวรเดช 2476 เกิดจากการไม่ยอมรับการปฏิวัติ 2475 ของกลุ่ม ผู้จงรักภักดี ประกอบด้วย เจ้านาย ขุนนาง และเหล่าผู้จงรักภักดี เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีความคิด แบบอนุรักษนิยมที่เชื่อว่าความไม่เสมอภาคเป็นเรื่องธรรมชาติ และสังคมไทยมีจารีตการปกครองโดยชนชั้นสูงมาตลอดประวัติศาสตร์

ดังนั้น ไม่สมควรเปลี่ยนแปลงการปกครองให้กลับตาลปัตร พวกเขากระทำการปฏิปักษ์การปฏิวัติ (counter revolution) ด้วยการใช้กำลังทางการทหารพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์จากหัวเมือง นำโดย นายพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เข้ามาสู่พระนคร เพื่อยื่นคำขาด เพื่อหมุนระบอบกลับสู่ที่เดิม คือระบอบราชาธิปไตย เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2476

 

ดังที่นายทหารคนหนึ่งของฝ่ายกบฏบวรเดชบันทึกว่า “ทหารหัวเมืองรวมตัวกันเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขระบบการปกครองให้เป็นไปตามเดิมโดยมี พลเอกฯ พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นหัวหน้า” ข้อความนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงระบอบการปกครองที่อยู่ในพระประสงค์และความต้องการที่แท้จริงของเหล่าฝ่ายกบฏในครั้งนั้นเป็นอย่างดี

ยังมีบทความของนักวิชาการประวัติศาสตร์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (ล่วงลับ) สรุปเหตุการณ์ให้เข้าใจไม่ยากว่า กบฏ บวรเดชเ ป็นผลโดยตรงจากการปฏิวัติของคณะราษฎรที่ทำการปฏิวัติล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นำประเทศสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นที่ทราบดีว่ามีกลุ่มขุนนาง ข้าราชการจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วย นำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างฝ่ายคณะราษฎรกับฝ่ายระบอบเก่านับตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา

เหตุการณ์ต่อเนื่องมาจากการรัฐประหารครั้งแรก สมัยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เพื่อยุติการใช้รัฐธรรมนูญและปิดสภาผู้แทนราษฎร กระทั่งในที่สุดพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้นำคณะราษฎรยึดอำนาจเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 เพื่อกลับมาใช้รัฐธรรมนูญและประชุมรัฐสภาตามเดิม แต่เหตุการณ์ยิ่งเพิ่มความไม่พอใจให้กลุ่มนิยมเจ้า จึงคบคิดและตระเตรียมกำลังตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2476 จนถึงเดือนตุลาคมจึงลงมือกระทำการ

พลเอกฯ พระองค์เจ้าบวรเดช

วันที่ 9 ตุลาคม คณะทหารที่เตรียมการก่อการกบฏประชุมกันที่เมืองนครราชสีมา ตั้งเป็น “คณะกู้บ้านกู้เมือง” เลือก พลเอกฯ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า และพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เป็นแม่ทัพหน้ากู้บ้านเมือง ข้ออ้างในการก่อการคือ คณะรัฐบาลกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ สนับสนุนหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) กลับมามีบทบาทในบ้านเมือง และปล่อยให้นายถวัติ ฤทธิเดช ฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองที่ประกอบด้วยหน่วยทหารนครราชสีมา สระบุรี และอยุธยา เคลื่อนกำลังเข้าประชิดพระนครวันที่ 11 ตุลาคม โดยยึดกรมอากาศยานดอนเมืองเป็นกองบัญชาการ หวังจะประสานกับหน่วยทหารเพชรบุรีและทหารในพระนครเพื่อให้รัฐบาลคณะราษฎรยอมแพ้ แต่ปรากฏว่าแผนไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย เพราะรัฐบาลคณะราษฎรตัดสินใจต่อสู้ ยิ่งกว่านั้นทหารในพระนครก็ร่วมกับฝ่ายรัฐบาลในการปราบปราม

มีการสู้รบจนถึงวันที่ 16 ตุลาคม ฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมือง ไม่ได้กำลังเสริม เพราะทหารเพชรบุรีที่ร่วมก่อการถูกหน่วยทหารราชบุรีตรึงกำลังไว้ ทหารจากนครสวรรค์และพิษณุโลก ก็ถูกขัดขวางจากหน่วยทหารลพบุรีและหน่วยทหารปราจีนบุรี พระองค์เจ้าบวรเดชจึงสั่งให้ถอนกำลังกลับนครราชสีมา โดยมีคำอธิบายว่ามีพระราชหัตถเลขาจากรัชกาลที่ 7 ขอให้ “ถอนทหารออกไปจากแหล่งที่ปฏิบัติการ”

การถอนทหารนำมาสู่ความพ่ายแพ้ เพราะทหารฝ่ายรัฐบาลได้โอกาสรุกไล่ การรบครั้งสำคัญเกิดขึ้นที่หินลับในวันที่ 23 ตุลาคม พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงครามเสียชีวิตในการสู้รบ พระองค์เจ้าบวรเดชและพระชายาขึ้นเครื่องบินไปยังเมืองไซ่ง่อนเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นายทหารฝ่ายกบฏจำนวนหนึ่งก็หนีออกนอกประเทศไปยังอินโดจีนฝรั่งเศส คณะกู้บ้านกู้เมืองจึงประสบความพ่ายแพ้

ฉบับพรุ่งนี้ (16 ต.ค.) อ่านกันต่อ ผลแห่งกบฏบวรเดช

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน