ติวเข้มเทคโนโลยีทันตกรรม สร้างนวัตกรเยาวชน พสวท.

คอลัมน์ ไอคิวทะลุฟ้า

เยาวชน พสวท. (โครงการพัฒนาและ ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) กว่า 80 คนร่วมเข้า “ค่ายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ นักเรียนที่ได้เหรียญรางวัลโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ ประจำปีพ.ศ.2561 วิชาวิทยาศาสตร์ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6” จัดโดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ (ACM) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เพื่อรับการติวเข้มจากพี่ๆ ทีมวิจัยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและ เครื่องมือแพทย์ หรือ A-MED ของ สวทช. ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย จ.ปทุมธานี เมื่อเร็วๆ นี้

ไอคิวทะลุฟ้า

ดร.สิรสา ยอดมงคล นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ฝังใน A-MED สวทช. เผยว่า ทีมวิจัยนำเรื่องเทคโนโลยีดิจิตอลที่ใช้ในงานด้านทันตกรรมมาเสริมความรู้ให้ น้องๆ เริ่มต้นจากการบรรยายเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทางทันตกรรม เช่น การเอกซเรย์ อินทราออรัลสแกนเนอร์ และตัวอย่างการใช้งานต่างๆ จากนั้นแบ่งกลุ่มเพื่อให้น้องๆ ร่วมกิจกรรมที่สื่อถึงการออกแบบทางทันตกรรมด้วยกัน 3 กิจกรรม ได้แก่ ฐานกิจกรรมที่ 1 “2D Design : ออกแบบอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์อัจฉริยะ” ให้น้องๆ ลองคิด ลองวาดภาพออกมา ดูว่าจะมีหน้าตาอย่างไร เป็นแบบไหน และมีชื่อเรียกว่าอะไร ใช้ประโยชน์อย่างไร

ต่อด้วยฐานกิจกรรมที่ 2 “3D Scan ทางทันตกรรม : Intraoral Scan Workshop” ฝึกปฏิบัติการใช้งานเครื่องอินทราออรัลสแกนเนอร์ หรือเครื่องสแกนเนอร์ในช่องปาก ในรูปแบบชิ้นงานจำลอง น้องๆ ได้ฝึกและทำความรู้จักกับ 3D Scan ด้วยอุปกรณ์ที่ต้องใช้เทคโนโลยีอินทราออรัลสแกนเนอร์ ทดแทนการพิมพ์ปากแบบทั่วไปที่ต้องใช้วัสดุเข้าไปให้คนไข้กัด แต่เครื่องนี้เป็นเครื่องถ่ายภาพภายในช่องปาก ทำให้เห็นข้อมูลฟันของคนไข้ เป็นไฟล์ดิจิตอล ทันตแพทย์จะใช้ไฟล์ตัวนี้ นำไปใช้วางแผนการจัดฟัน การฝังรากฟันเทียม หรือประเมินลักษณะอื่นๆ ในช่องปากได้ทันที

ไอคิวทะลุฟ้า

ฐานสุดท้ายคือ ฐานที่ 3 “เรียนรู้ดูการทำงานของเครื่องพิมพ์ สามมิติ (3D Printing)” ที่โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม ของ สวทช. ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ภาพสามมิติช่วยทำให้เห็นว่าลึกเท่าไร เอียงมุมไหน และตัวสแกนจะช่วยดูด้วยว่าเส้นประสาทฟันอยู่ตรงไหน ทำให้ทันตแพทย์วางแผนได้ว่าควรฝังลึกเท่าไรถึงจะไม่โดนเส้นประสาท ทำให้การฝังรากฟันเทียมทำได้ง่ายขึ้น

“กิจกรรมค่ายครั้งนี้มุ่งหวังให้น้องๆ ได้รับประโยชน์ 2 ส่วนหลัก คือ รู้จักอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ที่ใช้ในทางทันตกรรมว่ามีเทคโนโลยีใหม่ๆ อะไรบ้าง เพื่อเปิดโลกทัศน์ของน้องๆ และการส่งเสริมพร้อมกระตุ้นให้น้องๆ ใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ มาใช้ในการออกแบบที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์หรือเพื่อผู้สูงอายุ สิ่งที่น้องๆ คิดในวันนี้อาจเป็นจริงหรือเกิดเป็นนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริง ในอนาคต” ดร.สิรสากล่าวสรุป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน