3 โรคอันตรายในเด็กที่มากับฝน

ไข้เลือดออกหวัดใหญ่มือเท้าปาก

คอลัมน์ ข่าวสดสุขภาพ

โรคอันตรายในเด็กอากาศในฤดูฝนเหมาะกับการเจริญเติบโต และแพร่กระจายของเชื้อไวรัสและแบค ทีเรียหลายชนิด โดยเฉพาะในเด็กเนื่องจากเด็กยังไม่มีภูมิคุ้มกันอย่างเต็มที่เท่ากับผู้ใหญ่ และอาจไม่สามารถบอกเล่าถึงอาการต่างๆ ของตนให้ทราบได้อย่างชัดเจน พ่อแม่และ ผู้ปกครองควรมีความรู้เบื้องต้นในเรื่องอาการของโรคระบาดต่างๆ เพื่อสังเกตบุตรหลานที่มีแนวโน้มจะป่วยเป็นโรคนั้นๆ

โครงการวัคซีนพ่อแม่ โดยบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้เข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ และโรคมือเท้าปาก ซึ่งเป็นสามโรคอันดับต้นๆ ที่อันตรายในเด็กและควรระมัดระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะช่วงฤดูฝน ที่เทศบาลแกลงกะเฉด จังหวัดระยอง เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองและคุณครูจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เข้าใจอาการและรู้วิธีดูแลเบื้องต้นได้อย่างถูกต้อง

วิทยากรอธิบายว่า โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค หากไม่กำจัดยุงลายในบ้านเรือนหรือชุมชนอาจเสี่ยงต่อการป่วยที่อาจจะเกิดขึ้น โดยรอบได้ การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกเบื้องต้นในระยะสามวัน สามารถวัดไข้ร่วมกับการตรวจคัดกรองได้

โรคไข้เลือดออกในเด็กบางรายอาจ อาเจียนอย่างรุนแรง เลือดออกจากเยื่อบุ มีอาการซึม หายใจลำบาก และปัสสาวะลดลง หากติดเชื้ออย่างรุนแรงสามารถเกิดการช็อก รวมถึงการทำงานของอวัยวะล้มเหลว ถ้าไม่สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีจะเสียชีวิตได้ในที่สุด

ปัจจุบันโรคไข้เลือดออกยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัส จึงรักษาตามอาการเพื่อประคับประคองให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

หากพบว่าเด็กอาเจียนมาก ปวดท้อง ไข้ลดอย่างรวดเร็ว ตัวเย็นผิดปกติ ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นอีกหนึ่งโรคที่ติดต่อได้ง่ายผ่านการสัมผัสละอองสารคัดหลั่งเข้าตา ปาก หรือจมูก โดยมักพบทั้งปี ระบาดได้ง่ายในช่วงฤดูหนาวและฤดูฝน อาการป่วยจะเริ่มหลังรับเชื้อ 1-4 วัน

เด็กที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ มักมีไข้สูงอุณหภูมิเกินกว่า 39-40 องศาเซลเซียสติดต่อกัน 3-4 วัน อาจมีอาการหนาวสั่น และหัวใจเต้นเร็วร่วมด้วย ในขณะที่ไข้หวัดธรรมดาอาจมีไข้แต่ไม่สูงมากนัก

สิ่งสำคัญที่ช่วยแยกระหว่างอาการไข้ หวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่คือ เด็กที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ มักมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหารร่วมด้วย ในบางรายอาจต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล เนื่องจากมีอาการแทรกซ้อน อาทิ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัส อักเสบ ไข้ชัก กล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบจากแบคทีเรีย เป็นต้น

การดูแลเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัด ใหญ่ ส่วนมากสามารถพักที่บ้านและรักษาตามอาการได้ หากไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน เช่น ไข้สูงมากจนเพ้อ ซึม หายใจหอบ หายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก หน้ามืด มีอาการขาดน้ำและดื่มน้ำไม่เพียงพอ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้

สำหรับโรคมือเท้าปาก สามารถติดต่อกันได้ในเด็ก โรงเรียนที่มีเด็กป่วยโรคนี้อาจต้องหยุดเรียนทำความสะอาด เพื่อป้องกันการติดต่อผ่านเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรค

โดยมักเริ่มต้นอาการป่วยด้วยการมีไข้ และจุดสังเกตที่เห็นได้ชัดคือการมีแผลในปาก สามารถพบได้หลายตำแหน่ง ตั้งแต่บริเวณเพดานปาก กระพุ้งแก้ม หรือลิ้น นอกจากนี้ จะมีผื่นขึ้นตามมือและเท้า ในบางกรณีที่มีแผลเยอะอาจทำให้มีอาการเจ็บปวด และรับประทานอาหารไม่ค่อยได้ จึงควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด

โรคมือเท้าปากสามารถรักษาตามอาการ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือหยุดการแพร่กระจายของเชื้อ

จะเห็นได้ว่าอาการเจ็บไข้ได้ป่วยใน เด็ก เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้น การสังเกตอาการบุตรหลานได้ในเบื้องต้น จะสามารถช่วยส่งเข้ารับการรักษาและบรรเทาอาการได้โดยเร็ว

นอกจากนี้ ควรรักษาสุขอนามัยของเด็กๆ และของตนเอง รวมถึงปลูกฝังพฤติกรรมการล้างมืออย่างถูกวิธีสม่ำเสมอ ซึ่งการล้างมือสามารถช่วยลดการระบาดของโรคติดต่อในเด็กได้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน