ในงานเวที “สุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น วาระสร้างสุขภาวะ13 กลุ่มประชากร” ซึ่งจัดโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระหว่างวันที่ 3-5 ตุลาคม 2562 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ถือเป็นการสร้างพลังเครือข่ายของคนทำงานชุมชน ที่มีทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชน ผู้นำชุมชนท้องถิ่น นักวิชาการ ร่วมงานเกือบ 4,000 คน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ในการพัฒนาชุมชน เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ต่างๆจำนวนมาก

น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน(สำนัก3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) รายงานสถานการณ์สร้างสุขภาวะ 13 กลุ่มประชากร ว่า การจัดงานมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นกลไกการทำงานในพื้นที่ ให้เกิดการทำงานเป็นเครือข่าย และต้องการเสริมสร้างศักยภาพของผู้นำชุมชนท้องถิ่นเพื่อสร้างสุขภาวะใน 13 กลุ่มประชากร ซึ่งประกอบด้วย เด็ก0-2 ปี เด็ก 3-5 ปี เด็ก 6-12 ปี เด็กและเยาวชน หญิงตั้งครรภ์ วัยทำงาน ผู้สูงอายุ ผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย คนพิการ และผู้ต้องการความช่วยเหลือ โดยการสร้างสุขภาวะทั้ง 13 กลุ่มประชากร

ทั้งนี้ จากข้อมูลระบบฐานข้อมูลตำบล จาก 2,148 อปท. ครอบคลุม 2.4 ครัวเรือน ประชากร 8.8 ล้านกว่าคน ที่เก็บข้อมูลทุกมิติของชุมชน ทั้งสุขภาพ เครษฐกิจ ทำให้วิเคราะห์พบปัญหาที่ชุมชนท้องถิ่นได้รับผลกระทบ 10 ประเด็นสุขภาวะ ดังนี้ 1.การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ครัวเรือนมีผู้สูงอายุ 52.8% ในจำนวนนี้ อยู่คนเดียวลำพัง 11.3% 2.การดูแลเด็กปฐมวัยในชุมชน 3.การเฝ้าระวังความรุนแรงในครอบครัว พบว่า ครัวเรือนมีหนี้สิน 51.4% วัยทำงานว่างงาน 6.1% ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว 4.การจัดการขยะ แม้ชุมชนจัดการขยะมากถึง 86.1% แต่ยังมีปัญหาเรื่องบ่อขยะ ปัญหาจัดการขยะอินทรีย์ 5.การจัดการภัยพิบัติ มีครัวเรือน 34.7% ได้รับผลกระทบภัยพิบัติธรรมชาติโดยเฉพาะปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วมมาก

น.ส. ดวงพร กล่าวต่อว่า 6.การดูแลสุขภาพชุมชน พบผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7% ป่วยโรคความดันโลหิตสูง และเบาหวานมากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐเน้นการอบรม อสม. แต่ไม่เพียงพอ จึงต้องทำความรอบรู้สุขภาพไปถึงครอบครัวให้ได้ด้วย 7.การจัดการอาหารชุมชน มีการทำเกษตรมากถึง 97.1% ซึ่งเป็นฐานที่เลี้ยงคนทั้งประเทศได้ แต่จะทำอย่างไรให้ผลผลิตที่ออกมาปลอดภัย ปลอดสารเคมี เพราะพบการใช้สารคมีสูงถึง 12.5% 8.การควบคุมการบริโภคยาสูบและสารเสพติด มีคนสูบบุหรี่ 6.8% 9ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอุบัติเหตุจราจร มีคนที่ดื่มประจำ 7.5% ดื่มแล้วขับ 6.9% และ 10. เศรษฐกิจชุมชน จะสำรวจต่อไปในเครือข่าย

รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากการทำงานที่ผ่านมาจะพบว่า การดำเนินงานตามแนวคิดการสร้างสุขภาวะ 13 กลุ่มประชากร อย่างน้อยๆจะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ 1.ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ ซึ่งมีความสำคัญ ทั้งการจัดการบริการทางสังคม การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การจัดการสภาพแวดล้อม และการดูแลและบริการสุขภาพ และข้อนี้จะเป็นตัวบอกว่า ประชากร 13 กลุ่มอยู่อย่างไรในชุมชน 2.โรคและการเจ็บป่วย จากสถิติพบว่า 5-10 % ของช่วงชีวิตพวกเราทุกคนจะมีประสบการณ์เจ็บป่วยและเคยรักษาในโรงพยาบาล และ 90% มีประสบการณ์ในการดูแลเยียวยากันเองในชุมชน จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ภารกิจในการดุแลสุขภาพจึงต้องอยู่ในมือชุมชน และ3.ปัจจัยด้านพฤติกรรม ทั้งการประกอบอาชีพ การบริโภคอาหาร และสารเสพติด บุหรี่ สุรา

“การดูแลสุขภาวะ 13 กลุ่มประชากร ต้องคำนึงสิ่งเหล่านี้ และต้องอาศัย 2 หลักการ คือ 1. หลักการเน้นความครบถ้วน เชื่อมประสาน บริการสังคม ดูแลกันเองของคนในชุมชน และ2.เน้นการทำงานเข้าถึง ตั้งแต่เกิดจนตาย ยากดีมีจน เข้าถึงทุกระดับ ครอบคลุมทุกมิติ และต้องทำต่อเนื่อง คือ ทุกช่วงชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย แม้กระทั่งตายก็ต้องตายอย่างมีศักดิ์ศรี และต้องมีการเชื่อมร้อยในการทำงาน หมายถึงไม่ได้ทำคนเดียว แต่ต้องทำเป็นกลุ่มเป็นเครือข่าย ยิ่งในชุมชนจะทำคนเดียวไม่ได้ ดังนั้น หากมีการดำเนินการตามนี้” รศ.ดร.ขนิษฐา กล่าว








Advertisement

รศ.ดร.ขนิษฐา ยังทิ้งท้ายถึง 6 วิธีในการดูแลสุขภาวะตามวิธีการสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นใช้กัน ดังนี้ 1.ทำแผน ออกแบบกิจกรรม 2.ประชุมหาความร่วมมือทำงานร่วมกันและตัดสินใจ 3.การสื่อสารสรุปบทเรียน 4.ส่งเสริมกิจกรรมทางสังคม 5.จัดสรรงบประมาณ จัดการเงินมาใช้ประโยชน์ 6.การบริหารจัดการบริการ งาน และกิจกรรม โดยทั้งหมดผู้นำสามารถนำมาจัดการในการดูแลประชากรทั้ง 13 กลุ่มได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน