จากศึกการค้าสหรัฐ

ถึงความร่วมมือไทย-จีน

ความร่วมมือไทย-จีน – ระหว่างที่สงครามการค้าของสองมหาอำนาจ จีน VS สหรัฐอเมริกา พ่นพิษต่อเศรษฐกิจทั่วโลก สำนักข่าว ซินหัวไทย เผยแพร่บทความเรื่อง “ชี้แจง ‘ความเข้าใจผิด’ ในความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ”

ความร่วมมือไทย-จีน

เอซรา โวเกล

บทความนี้สัมภาษณ์ เอซรา โวเกล (Ezra Vogel) ศาสตราจารย์กิตติคุณของมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ดว่า แม้จะโชคไม่ดีนักที่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประเทศจีนในหมู่นักการเมืองสหรัฐบางคน แต่สหรัฐและจีนในฐานะผู้เล่นรายใหญ่บนเวทีโลก จะต้องอยู่ร่วมกันและฝ่าฝันไปด้วยกันอีกเป็นระยะยาว

อดีตศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเป็นนักวิชาการด้านจีนศึกษามา ตั้งแต่ปีค.ศ. 1961 ประพันธ์หนังสือ “เติ้งเสี่ยวผิงและการเปลี่ยนโฉมประเทศจีน” (Deng Xiaoping and the Transformation of China) เคยเดินทางไปประเทศจีนทุกปีนับตั้งแต่ปีค.ศ.1980 (พ.ศ.2523) มองว่าคนส่วนมากในทำเนียบขาวมีความเข้าใจเกี่ยวกับจีนน้อยนิดนัก และยังแทบไม่มีความสนใจจะเข้าใจประเทศจีนอีกด้วย

ล่าสุดโวเกลเป็นผู้ร่วมเขียนจดหมายเปิดผนึกหัวข้อ “ประเทศจีนไม่ใช่ศัตรู” (China is not an enemy) ยื่นต่อรัฐบาลสหรัฐ และสภาคองเกรสเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมปีนี้ โดยมีนักวิชาการชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศ กองทัพ และผู้นำธุรกิจจำนวนรวม 100 คนเรียกร้องให้รัฐบาลของทรัมป์ทบทวนมุมมองและท่าทีที่มีต่อจีนใหม่ อีกครั้ง

“ความรวดเร็วของข้อมูลข่าวสาร การขนส่งสินค้า และการเดินทางรอบโลกทางอากาศ หมายความว่าความคิดที่รัฐบาลทรัมป์ต้องการจะตัดขาดการติดต่อนั้นเป็นไปไม่ได้” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

จดหมายเปิดผนึกฉบับดังกล่าวไม่ได้รับคำตอบจากทำเนียบขาว แต่โวเกลกล่าวว่า ได้รับเสียงตอบรับจากผู้คนจำนวนมากที่มีความคิดเห็นคล้ายกัน โดยเห็นได้จากจำนวนผู้ที่ร่วมลงนามในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาซึ่งสูงขึ้นเป็นเท่าตัว

“ความเห็นในวอชิงตันเกิดขึ้นจากการรับสื่อโฆษณาที่ระบุว่ามีฉันทามติร่วมกันว่าเราต้องเข้มงวดกับจีนให้มากขึ้น แต่จดหมายฉบับนั้นชี้แจงว่าไม่เคยมีฉันทามติเช่นนั้นเกิดขึ้น” โวเกลกล่าว

สินค้าสหรัฐขายที่ฮ่องกง

จดหมายดังกล่าวระบุว่าความพยายามของสหรัฐ ที่ต้องการจะข่มขู่ประเทศจีนในฐานะของศัตรูและกำจัดคู่แข่งออกไปจากเวทีเศรษฐกิจโลกนั้นจะสร้างความ เสียหายให้กับผลประโยชน์ทั้งของสหรัฐเองและของประเทศอื่นๆ ด้วย รวมทั้งสหรัฐจะไม่ชะลอการผงาดของจีนได้โดยไม่ทำร้ายตัวเอง

“คนจำนวนมากในสหรัฐต้องการจะให้ความร่วมมือ และเราคาดว่าจะมีโอกาสมากมายให้ทั้งสองประเทศได้ทำงานร่วมกันในประเด็นใหญ่ๆ” โวเกลกล่าว

ความร่วมมือไทย-จีน

ไมเคิล เอสซอนยี

ด้าน ไมเคิล เอสซอนยี (Michael Szonyi) นักประวัติศาสตร์ชาวแคนาดาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นักวิชาการอีกคนที่ลงนามในจดหมาย เปิดผนึกฉบับดังกล่าว กล่าวว่า สิ่งที่เราไม่ต้องการจะทำมากที่สุดก็คือพยายามสนับสนุนให้กำจัดคู่แข่งอย่างจีนออกจากเวทีเศรษฐกิจโลก เพราะมันไม่สมเหตุสมผลเลยไม่ว่าจะในทางการเมืองหรือในทางเศรษฐกิจ

เงินดอลลาร์และเงินหยวน

รายงานฉบับหนึ่งจากสภาธุรกิจสหรัฐ-จีน ชี้ว่าร้อยละ 97 ของบริษัทสหรัฐที่ได้รับการสำรวจมีกำไรจากการทำธุรกิจกับประเทศจีน การค้ากับจีนช่วยประหยัดเงินให้กับทุกครัวเรือนของสหรัฐ เฉลี่ย 850 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 25,600 บาท) และการส่งออกสินค้าของสหรัฐไปประเทศจีนเพียงประเทศเดียวนั้นยังอยู่เบื้องหลังการจ้างงานชาวอเมริกันมากกว่า 1.1 ล้านตำแหน่ง ตั้งแต่ปีค.ศ.2009-2018 (พ.ศ.2552-2561)

ขณะนี้จีนเป็นผู้นำเข้าสินค้าและบริการรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก มีตลาดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จำนวนประชากรรายได้ระดับปานกลางของจีนยังขยายตัวรวดเร็วที่สุดในโลก คนจีนซึ่งร่ำรวยยิ่งขึ้นกว่าเดิมกำลังจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟน เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ออกแบบโดยนักออกแบบชื่อดัง หรือรถยนต์รุ่นใหม่

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ผู้ซื้อชาวจีนหลายรายเพิ่งทำข้อตกลงสั่งซื้อ ถั่วเหลืองและเนื้อหมูปริมาณมากจากสหรัฐ ซึ่งเป็นสัญญาณของการประนีประนอมท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าอันยาวนาน

นอกจากนี้ เมื่อคำนึงถึงผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจที่มากับความสัมพันธ์กับจีน และความจำเป็นของสหรัฐที่จะต้องแบกรับความรับผิดชอบบนเวทีโลก ปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอาจเป็นพื้นที่ที่เป็นแรงกดดันสูงสุดให้ทั้งสองประเทศรวมพลังกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับอนาคตของโลกด้วย

โจเซฟ นาย

ขณะที่ โจเซฟ นาย (Joseph Nye) นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงในแวดวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการสร้างสรรค์นโยบาย ผู้บุกเบิกทฤษฎีอำนาจอ่อน (soft power) ชี้ให้เห็นถึงอันตรายของการกลัวประเทศจีนอย่างเกินจริง และอันตรายของการประกาศ “สงครามเย็นครั้งใหม่”

“เราต้องยอมรับว่าระบบของเราแตกต่างกัน แต่เรายังอยู่ร่วมกันได้” นายกล่าว พร้อมเสริมว่าทั้งสองประเทศไม่ได้เป็นภัยคุกคามด้านการดำรงอยู่ของกันและกัน สมุดปกขาวที่เผยแพร่โดยสำนักงานข้อมูลข่าวสารคณะมนตรีแห่งรัฐ (State Council Information Office – SCIO) ของจีนเมื่อเดือนที่ผ่านมาก็ระบุว่า จีนไม่มีความตั้งใจที่จะท้าทายหรือแทนที่สหรัฐ

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้น ทั้งด้านการค้า เทคโนโลยี และค่านิยม หวังอี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวระหว่างการเดินทางเยือนนครนิวยอร์กเมื่อเดือนก่อนว่า ทั้งสองประเทศควรจะแก้ปัญหาด้านความแตกต่างของกันและกันอย่างเหมาะสม เดินหน้าความร่วมมือ และแบกรับความรับผิดชอบต่างๆ ร่วมกัน

รองนายกฯ จีนจับมือทรัมป์ที่ทำเนียบขาว

ล่าสุดสหรัฐและจีนมีความคืบหน้าครั้งสำคัญในการเจรจาการค้า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ จับมือกับ นายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีนที่ทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 11 ต.ค. เพื่อประกาศข้อตกลงทางการค้าเฟสแรก ครอบคลุมหลายด้านด้วยกัน เช่น การเกษตร สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา บริการทางการเงิน การขยายการค้า และการส่งผ่านเทคโนโลยี

ธนาธรบนเวที ‘เปิดมุมมอง ปรับความคิด ความร่วมมือไทย-จีน’

สําหรับส่วนของไทย สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน และอสมท เพิ่งจัดงานเสวนาในหัวข้อ “เปิดมุมมอง ปรับความคิด ความร่วมมือไทย-จีน” ที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 ต.ค. เชิญวิทยากรทั้งชาวไทยและชาวจีน รวมถึง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมแสดงความคิดเห็น ท่ามกลางผู้ฟังกว่า 300 คน

นายธนาธรกล่าวว่า ตนเองเดินทางไปจีนมาแล้วมากกว่า 40 ครั้ง เซ็นสัญญาทำธุรกิจกับจีนครั้งแรกในปีพ.ศ. 2552 บริษัทที่ตนเคยบริหารมีโรงงานเปิดในจีนแผ่นดินใหญ่ถึง 3 แห่ง ลงทุนไปประมาณ 4,000 ล้านบาท ทำให้ตนมีประสบการณ์การทำงานร่วมกับคนจีนหลากหลายระดับ ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ลูกค้า ไปจนถึงสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์

บริษัทในจีนเองส่งเสริมธุรกิจจากประเทศไทยหลายอย่าง การผลิตสินค้าในจีนขึ้นชื่อในเรื่อง “ถูก เร็ว ดี” บางปีเศรษฐกิจดี เราจึงนำเข้าสินค้าจากจีนกว่า 300 ล้านบาท บางสิ่งเราไม่มีเรานำเข้าจากจีน บางอย่างจีนไม่มีเราก็นำไปลงทุน ถึงวันนี้ยังมีโอกาสอีกมากที่บริษัทจีนจะมาสร้างเสริมความสัมพันกับบริษัทไทยให้ก้าวไกลได้

นายธนาธรแนะนำว่า สิ่งที่เราควรเรียนรู้จากจีนอยู่ 2-3 ข้อ เริ่มจากหนึ่งการก้าวข้ามจากประเทศกำลังพัฒนาหรือการก้าวพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางเป็นประเทศพัฒนาแล้ว สิ่งที่สำคัญมากคือ จะต้องมี “เทคโนโลยี” เป็นของตัวเอง ถ้าเรายังไม่สามารถสร้างเทคโนโลยีในประเทศไทยได้เอง จะไม่สามารถก้าวข้ามผ่านกับดักรายได้ปานกลางได้เลย

ประเด็นต่อมาคือ “กระจายอำนาจ” แต่ละมณฑลของจีนบริหารจัดการตัวเองได้ สำนักงานใหญ่ของบริษัทต่างๆ ไม่ได้ถูกรวมศูนย์ที่ปักกิ่งอย่างเดียว หลายๆ บริษัทใหญ่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ต่างจังหวัด ความเป็นอิสระของแต่ละมณฑลทำให้การพัฒนาไม่ถูกรวมศูนย์ เกิดการกระจายรายได้กระจายงานไปสู่แต่ละมณฑล

ถ้าเรามองย้อนไปยังรูปแบบการพัฒนาของจีน จะเห็นว่าช่วง 20 ปีแรกการพัฒนาเน้นหนักไปทางจังหวัดชายฝั่งภาคตะวันออกเสียส่วนใหญ่ แต่ระยะหลังก็เริ่มมีการพัฒนากระจายไปสู่ทางตะวันตกเป็นหลัก ดังนั้นไทยควรพัฒนาเอางานเอาความมั่งคั่งไปยังต่างจังหวัดให้มากขึ้น

อีกประเด็นที่น่าสนใจ เป็นบทเรียนสำหรับประเทศอาเซียน การที่จีนเติบโตได้ขนาดนี้ เพราะจีนมีตลาดภายในที่ใหญ่มาก นโยบายอุตสาหกรรมของจีนสอดรับกับความต้องการ แต่อาเซียนต่างคนต่างมีการผลิตแข่งกันเอง ไม่เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าภายใน ดังนั้นอนาคตเราจำเป็นจะต้องมีนโยบายอุตสาหกรรมระดับอาเซียน ต้องมีการค้าภายในอาเซียนที่เยอะขึ้น การจะทำเช่นนั้นได้ การเมืองระดับประเทศและกฎหมายของแต่ละประเทศจะต้องไปด้วยกัน

 

สุดท้ายปัจจุบันจีนมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีและควรต้อนรับ เพราะจีนเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก มีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน เราไม่สามารถปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประเทศที่มีคน 1,400 ล้านคนในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของโลกได้แน่นอน โลกยุคปัจจุบันเป็นโลกที่มีหลายขั้วอำนาจ ไทยไม่สามารถหวังพึ่งขั้วใดขั้วหนึ่งได้อีกต่อไป โลกทั้งโลกควรจะยินดีการเข้ามามีบทบาทของจีน

ขณะเดียวกัน นายธนาธรกล่าวถึงสิ่งที่จีนควรจะพัฒนาปรับปรุง คือการเติบโตควบคู่ไปกับการเป็นประเทศที่มีความรับผิดชอบด้วย เช่น นโยบายการอุดหนุนสินค้าจีนให้ส่งออกได้อย่างเต็มที่ เรื่องนี้จีนควรจะต้องค่อยๆ เปิดให้มีความโปร่งใส ไม่ควรอุดหนุนมากเกินไปจนทำให้ประเทศคู่ค้าเสียเปรียบ ไม่ใช่ว่าจีนไปลงทุนในประเทศอื่นได้หมด แต่มีข้อจำกัดในการเปิดให้ประเทศอื่นเข้าไปลงทุน ต้องแฟร์ คือปฏิบัติต่อประเทศอื่นอย่างเท่าเทียมกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน