5 นักวิจัยสตรีไทยรับทุนวิทยาศาสตร์

5 นักวิจัยสตรีไทยรับทุนวิทยาศาสตร์ – เพื่อร่วมเชิดชูเกียรติสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์และสนับสนุนงานด้านการค้นคว้าและวิจัยนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทย บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยความร่วมมือกับสำนักเลขาธิการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศรายชื่อ 5 นักวิจัยสตรีผู้มีผลงานวิจัยในการพัฒนาชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมและประเทศชาติอันโดดเด่นรับทุนโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2562 โดยมอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้นักวิจัยสตรีอายุระหว่าง 25-40 ปี นับเป็นปีที่ 17 ของการดำเนินโครงการในประเทศไทย ปัจจุบันมีนักวิจัยสตรีไทยได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้รวม 65 คน

อรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ยูเนสโกคาดการณ์ว่าปี 2030 ทั่วโลกจะมีนักวิจัยสตรีเพียง ร้อยละ 29 ลอรีอัลเชื่อมั่นมาตลอดว่าการค้นคว้าวิจัยจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นจุดยืนของ นายยูชีน ชูแลร์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้งลอรีอัล เราเชื่อมั่นว่าโลกต้องการวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ต้องการผู้หญิง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนเราจึงสนับสนุนงานวิจัยของสตรีมาอย่างต่อเนื่อง

“เพื่อเป็นหนึ่งในฟันเฟืองในการสนับสนุนนักวิจัยสตรีไทยที่มีสัดส่วน 56.1% แต่ก็ยังนับเป็นเพียงหนึ่งใน 29% ของนักวิทยาศาสตร์สตรีทั่วโลก เราจึงเดินหน้าโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 เพื่อเป็นแรงสนับสนุนให้นักวิจัยสตรีไทยสร้างงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติ และผลักดันให้พวกเขาก้าวเข้าสู่วงการวิทยาศาสตร์ในระดับสากลได้” อรอนงค์กล่าว

5 นักวิจัยสตรีไทยรับทุนวิทยาศาสตร์

ดร.ธัญญพร วงศ์เนตร

5 นักวิจัยสตรีไทยรับทุนวิทยาศาสตร์

ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ

ปีนี้คณะกรรมการคัดเลือกนักวิจัยสตรี 5 คน จากสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ 2 คน คือ ดร.ธัญญพร วงศ์เนตร จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี งานวิจัยหัวข้อ “การวิจัยค้นหาหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อเปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้เป็นสารมูลค่าเพิ่มเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” และ ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ งานวิจัยหัวข้อ “เอนอีซ (ENZease) : เอนไซม์อัจฉริยะทูอินวันสำหรับกระบวนการผลิตสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

5 นักวิจัยสตรีไทยรับทุนวิทยาศาสตร์

ดร.จำเรียง ธรรมธร

5 นักวิจัยสตรีไทยรับทุนวิทยาศาสตร์

รศ.ดร.ศิริลตา ยศแผ่น

สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ 3 คน คือ ดร.จำเรียง ธรรมธร จากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ งานวิจัย “การสังเคราะห์สารอนุพันธ์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพและการศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งและเชื้อมาลาเรีย” รศ.ดร.ศิริลตา ยศแผ่น ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล งานวิจัยหัวข้อ “การออกแบบกระบวนการสังเคราะห์สารอินทรีย์วิธีใหม่ด้วยแนวคิด C-H functionalization สู่การพัฒนากระบวนการสังเคราะห์ทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืน” และ รศ.ดร.พนิดา สุรวัฒนาวงศ์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล งานวิจัยหัวข้อ “การศึกษาการทำงานร่วมกันของโลหะและกรดลิวอิสเพื่อการสลายพันธะคาร์บอนออกซิเจนของแอริลอีเทอร์ด้วยวิธีคำนวณทางเคมีควอนตัม”

5 นักวิจัยสตรีไทยรับทุนวิทยาศาสตร์

รศ.ดร.พนิดา สุรวัฒนาวงศ์

ดร.ธัญญพร วงศ์เนตร กล่าวถึงงานวิจัยว่าจากผลการสำรวจโดยกรมควบคุมมลพิษในปี 2559 พบว่าประชากรไทยสร้างขยะมูลฝอยหรือขยะชุมชนสู่ระบบนิเวศกว่า 27.37 ล้านตันต่อปี หรือราว 74,998 ตันต่อวัน เป็นจำนวนที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งในระดับชุมชนและประเทศชาติอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ทีมวิจัยจึงนำเทคโนโลยีการหมักขยะเศษอาหารมาใช้ควบคู่กับหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงที่ได้จากผลงานวิจัยเพื่อเปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้เป็นสารมูลค่าเพิ่มเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ก่อให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนขยะมูลฝอยให้กลายเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและสารชีวภัณฑ์มูลค่าเพิ่มที่มีคุณภาพสูงขึ้น และเป็นพลังงานสะอาด นำมาใช้เป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือกในอนาคต ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีไปใช้แล้วที่จังหวัดน่าน และที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) กำลังวางแผนขยายไปยังชุมชนอื่นและระดับเทศบาลต่อไป เพื่อปลูกฝังให้คนไทยมีพฤติกรรมแยกขยะและช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ปล่อยออกสู่ระบบนิเวศและธรรมชาติต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน