‘เบาหวาน’ควบคุมได้

คอลัมน์ ข่าวสดสุขภาพ

‘เบาหวาน’ควบคุมได้ – ผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทยที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้มีเพียงร้อยละ 40 แม้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมียาในการรับประทาน รวมถึงมีการให้อินซูลิน แต่องค์ประกอบที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ต้องอยู่ที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตของผู้ป่วยด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี “เครือข่าย” หรือ กลุ่ม รวมถึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริม สนับสนุนและปรับสภาพแวดล้อมเพื่อให้การปรับเปลี่ยนเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

‘เบาหวาน’ควบคุมได้

ชมรมเบาหวาน ร.พ.รามาธิบดี

จึงเป็นที่มาในการดำเนินงานของทุกภาคส่วนโดยมีสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ เป็นแกนนำ ร่วมกับกรมการแพทย์ 13 เขตสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยบริษัท ซาโนฟี่-อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมสนับสนุนการจัดสัมมนา “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การสร้างเครือข่ายและชมรมเบาหวานของประเทศไทย” ณ โรงพยาบาลราชวิถี เมื่อเร็วๆ นี้

‘เบาหวาน’ควบคุมได้

นพ.เพชร รอดอารีย์

นพ.เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า แนวทางในการรักษาผู้ป่วยเบาหวานจะต้องประกอบด้วยหลายส่วน ทั้งการให้ความรู้และสร้างทักษะเพื่อการดูแลโรคเบาหวานด้วยตนเอง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไข้ การให้ยาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง ซึ่งการให้ความรู้เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ดูแลและผู้ที่มีความเสี่ยง มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวาน วิธีการดูแลรักษาโรคเบาหวาน สร้างทักษะเพื่อการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง และให้ความร่วมมือในการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นรูปแบบการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วยจะต้องอาศัยความสัมพันธ์แบบพึ่งพา เป็นการหารืออภิปรายแลกเปลี่ยนกันและกัน จนเห็นพ้องต้องกัน จึงจะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้และปฏิบัติได้อย่างยั่งยืน

‘เบาหวาน’ควบคุมได้

ชมรมเบาหวาน ร.พ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

‘เบาหวาน’ควบคุมได้

แพทย์ เครือข่ายเบาหวาน และซาโนฟี่

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นยังพบว่าผู้ป่วยมีการควบคุมระดับน้ำตาลได้น้อย โดยคนไข้ใหม่ในปีแรกจะดูแลตัวเองดีมาก คุมระดับน้ำตาลได้ดี แต่เมื่อนานไปเริ่มที่จะคุมไม่ได้ ซึ่งการจะบอกคนไข้ให้เปลี่ยนพฤติกรรม วิถีชีวิตและต้องเปลี่ยนไปตลอดชีวิตกับสิ่งที่คุ้นเคยมานาน 30-40 ปี ไม่ใช่เรื่องง่ายและเกิดขึ้นได้ทันที

นพ.เพชรกล่าวเพิ่มเติมว่า การจะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้นนั้น จะต้องอาศัยมิติเชิงสังคมและวัฒนธรรมด้วยตามแบบแผนการดูแลโรคเรื้อรังจะต้องประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ระบบสุขภาพ และชุมชน ซึ่งจะเป็นส่วนที่สำคัญ เนื่องจากเมื่อคนไข้ได้รับความรู้และการดูแลจากระบบแล้วจะต้องกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน ในชุมชน สภาพแวดล้อมของคนไข้ส่วนใหญ่จึงอยู่ที่ชุมชน เพราะฉะนั้น การที่จะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถดูแลตนเอง ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีอย่างยั่งยืน จะต้องอาศัยครอบครัวและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยในการสนับสนุนอำนวยความสะดวก เพื่อให้มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อจะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานดูแลตนเองได้ดีขึ้น แต่หากมุ่งเน้นการดูแลแต่เฉพาะในสถานพยาบาลจะไม่สำเร็จ

‘เบาหวาน’ควบคุมได้

ชมรมเบาหวาน รพ.จุฬาลงกรณ์

“แนวทางการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมสามารถเริ่มต้นด้วยการใช้รูปแบบของการสร้างชมรม เครือข่ายหรือกลุ่มคนในชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาคล้ายคลึงกันมารวมตัวกันด้วยความสมัครใจ เพื่อช่วยเหลือกันและกัน ด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประสบการณ์อย่างสม่ำเสมอ ส่งเสริมให้มีกำลังใจ สามารถปรับตัวและมีศักยภาพในการดูแลตนเองและจัดการกับสุขภาพตนเอง

เพราะคนไข้ด้วยกันจะมีความเข้าใจกันและกันมากกว่าแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่จะทำสิ่งนั้นๆ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลตนเองต่อไปได้” นพ.เพชรกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน