เพลงชาติไทย(ตอนจบ)

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

เพลงชาติไทย(ตอนจบ) – ฉบับวานนี้ ( 11 พ.ย.) “นายอิน” ถามว่า ส.ส.คนหนึ่งเสนอให้ยกเลิกเพลงชาติที่ร้องกันอยู่ทุกวันนี้ ทำไมหรือ ขอความเป็นมาเพลงชาติไทยด้วย เมื่อวานตอบถึงที่มาแห่งทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) แล้ว วันนี้ว่าถึงเนื้อร้อง

เพลงชาติ

ในปี พ.ศ. 2477 รัฐบาลได้จัดประกวดเนื้อร้องเพลงชาติใหม่ โดยมีคณะกรรมการพิจารณาเพลงชาติเป็นผู้ดำเนินการ ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเป็นประธาน มีกรรมการท่านอื่นๆ ดังนี้คือ พระเรี่ยมวิรัชพากย์, พระเจนดุริยางค์, หลวงชำนาญนิติเกษตร, จางวางทั่ว พาทยโกศล และนายมนตรี ตราโมท โดยดำเนินการประกวดเพลงชาติ 2 แบบ คือ เพลงชาติแบบไทย (ประพันธ์ขึ้นโดยดัดแปลงจากดนตรีไทยเดิม) และเพลงชาติแบบสากล

ผลการประกวด 1.เพลงชาติแบบไทย คณะกรรมการพิจารณาเพลงชาติได้ตัดสินให้เพลงมหานิมิตร ประพันธ์โดย จางวางทั่ว พาทยโกศล เป็นผลงานชนะเลิศ เพลงมหานิมิตรนี้จางวางทั่วได้ประพันธ์ดัดแปลงมาจากเพลงหน้าพาทย์สำคัญของ ไทยที่มีชื่อว่า ตระนิมิตร ให้สามารถบรรเลงเป็นทางสากล เพลงตระนิมิตรถือว่าเป็นเพลงครู นักดนตรีจะบรรเลงในพิธีสำคัญต่างๆ เช่น งานไหว้ครู บรรเลงเป็นการอัญเชิญครูบาอาจารย์เทวดาทั้งหลายมาประชุมกันเพื่อความเป็น สิริมงคล ดังนั้นจึงมีความหมายอันควรแก่การเคารพนับถือเป็นสิริมงคล เหมาะสมที่จะใช้เป็นเพลงชาติไทยได้

รัฐบาลได้ทดลองบรรเลงออกอากาศทางวิทยุ กระจายเสียงอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาเมื่อคณะกรรมการพิจารณาเพลงชาติจะเสนอผลการประกวดให้คณะรัฐมนตรีประกาศ รับรองนั้น คณะกรรมการได้ประชุมกันและมีความเห็นว่า เพลงชาติมีลักษณะที่บ่งบอกถึงความศักดิ์สิทธิ์ หากมีการใช้อยู่ 2 เพลง จะทำให้คลายความศักดิ์สิทธิ์ลง จึงได้ตัดสินใจไม่เสนอเพลงชาติแบบไทยที่ได้คัดเลือกไว้ให้คณะรัฐมนตรีประกาศ รับรองเป็นเพลงชาติในที่สุด

2.เพลงชาติแบบสากล คณะกรรมการพิจารณาเพลงชาติมีความเห็นให้ใช้ทำนองเพลงซึ่งประพันธ์โดยพระเจน ดุริยางค์เป็นทำนองเพลงชาติแบบสากล สำหรับบทร้องได้คัดเลือกบทร้องของขุนวิจิตรมาตราซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมเป็น บทร้องชนะเลิศ และได้เพิ่มบทร้องของนายฉันท์ ขำวิไล ซึ่งเป็นบทร้องที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศเข้าอีกชุดหนึ่ง คณะรัฐมนตรีได้ประกาศรับรองให้เป็นบทร้องเพลงชาติฉบับราชการเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2477

บทร้องทั้งของขุนวิจิตรมาตราและนายฉันท์ ประพันธ์ในรูปฉันทลักษณ์แบบกลอนสุภาพ (กลอนแปด) ความยาว 4 บท แต่ละบทมี 4 วรรค ผลงานของแต่ละคนจึงมีความยาวของบทร้องเป็น 16 วรรค เมื่อนำมารวมกันแล้วจึงทำให้บทร้องเพลงชาติทั้งหมดมีความยาวถึง 32 วรรค ซึ่งนับว่ายาวมาก หากจะร้องเพลงชาติให้ครบทั้ง 4 บทจะต้องใช้เวลาร้องถึง 3 นาที 52 วินาที (เฉลี่ยแต่ละท่อนรวมดนตรีนำด้วยทั้งเพลงตกที่ท่อนละ 35 วินาที) ในสมัยนั้นคนไทยส่วนใหญ่จึงนิยมร้องแต่เฉพาะบทร้องของขุนวิจิตรมาตรา และต่อมาภายหลังจึงไม่มีการขับร้อง คงเหลือแต่เพียงทำนองเพลงบรรเลงเท่านั้น

เพลงชาติไทย

ในปี 2478 รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ออกระเบียบการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและ เพลงชาติ ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 (มีผลบังคับใช้ 15 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน) ระเบียบดังกล่าวกำหนดให้แบ่งการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติออก เป็น 2 แบบ คือ การบรรเลงแบบพิสดาร (บรรเลงตามความยาวปกติเต็มเพลง) และการบรรเลงแบบสังเขป ในกรณีของเพลงชาติ กำหนดให้บรรเลงเพลงชาติฉบับสังเขปในการพิธีที่เกี่ยวข้องกับประชาชน สโมสรสันนิบาต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิธีปกติ ส่วนการบรรเลงแบบเต็มเพลง ให้ใช้ในงานพิธีใหญ่เท่านั้น ท่อนของเพลงชาติที่ตัดมาใช้บรรเลงแบบสังเขป คือท่อนขึ้นต้น (เทียบกับเนื้อร้องเพลงชาติฉบับปัจจุบันก็คือตั้งแต่ท่อน สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี จนจบเพลง) ความยาวประมาณ 10 วินาที ไม่มีการขับร้องใดๆ ประกอบ

พ.ศ.2482 ประเทศสยามเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย รัฐบาลได้จัดประกวดเนื้อร้องเพลงชาติไทยใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศ โดยกำหนดเงื่อนไขยังคงใช้ทำนองของพระเจนดุริยางค์อยู่เช่นเดิม แต่ให้มีเนื้อร้องความยาวเพียง 8 วรรคเท่านั้น และปรากฏคำว่า ไทย ซึ่งเป็นชื่อประเทศอยู่ในเพลงด้วย ผลการประกวดปรากฏว่าเนื้อร้องของพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ ซึ่งส่งประกวดในนามกองทัพบกได้รับรางวัลชนะเลิศ รัฐบาลไทยจึงได้ประกาศรับรองให้ใช้เป็นเนื้อร้องเพลงชาติไทย โดยแก้ไขคำร้องจากต้นฉบับที่ส่งประกวดเล็กน้อย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2482 และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน