วันแห่งผู้ล่วงลับกับคาทริน่า

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย น้านชาติ ประชาชื่น

วันแห่งผู้ล่วงลับกับคาทริน่า – ที่เม็กซิโกมี วันคนตาย ดูข่าวมีพาเหรดแต่งเป็นผีหน้าสวยชื่อ คาทริน่า มีความเป็นมาอย่างไร

กุ๊กกู๋

ตอบ กุ๊กกู๋

มีเขียนเล่าไว้ในเว็บไซต์ readthecloud.co/ เรื่อง Dia de los Muertos หรือ Day of the Dead ว่า เป็นวาระเฉลิมฉลองวันแห่งผู้ล่วงลับ เทศกาลที่จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงสมาชิกในครอบครัวหรือญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้ว และเชื่อกันว่าในวันดังกล่าวเป็นช่วงที่วิญญาณเหล่านั้นจะเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ครอบครัวจึงจัดเตรียมอาหารทั้งคาวหวานและข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นของโปรดเอาไว้ต้อนรับ

วันแห่งผู้ล่วงลับกับคาทริน่า

ย้อนกลับไปไกล 3,500 ปีที่แล้ว หมู่ชนพื้นเมืองในดินแดนนี้ พวกเขาเชื่อในชีวิตหลังความตาย หลักฐานหนึ่งคือจากแหล่งโบราณคดีหลายแห่งในประเทศเม็กซิโก พบการสร้างที่ฝังศพไว้ใต้บ้านหรือใกล้กับตัวบ้าน เพื่อกระดูกของสมาชิกครอบครัวหรือคนที่รักซึ่งตายไปแล้วจะได้อยู่ใกล้ชิดกับลูกหลานที่ยังมีชีวิต

จนกระทั่งมาถึงช่วงศตวรรษที่ 14-16 ชาวแอซเท็ก (Aztec) ผู้มีความเชื่อว่าการตายเป็นเพียงการข้ามผ่านจากโลกนี้ไปยังอีกโลกหนึ่ง มีการจัดงานเฉลิมฉลองเป็นระยะเวลา 1 เดือนเต็มในเดือนสิงหาคมของทุกปี เพื่อบูชาเทพีแห่งโลกใต้พิภพ (Micteca cihuatl) หรือเทพีแห่งความตาย (Lady of the Dead) ผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษากระดูกของคนตายเพื่อนำไปใช้ในโลกหน้า

ต่อมาถึงช่วงการเข้ามาของอารยธรรมสเปนในศตวรรษที่ 16 ความเชื่อพื้นเมืองดั้งเดิมผสมผสานเข้ากับความเชื่อของคริสต์ศาสนา กำหนดวันฉลองจึงเปลี่ยนเป็นคืนวันที่ 31 ตุลาคม และ 1, 2 พฤศจิกายน เพื่อให้ตรงกับวัน All Saints Eve, All Saints Day และ All Soul Day โดยยังคงไว้ซึ่งความเชื่อและธรรมเนียมปฏิบัติเฉพาะตัวที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม (ไม่ใช่ฮัลโลวีนสไตล์เม็กซิกันแต่อย่างใด)

วันแห่งผู้ล่วงลับกับคาทริน่า

จากโครงกระดูกสู่เทพีแห่งโลกใต้พิภพ เมื่อพูดถึง Day of the Dead แล้วจะไม่พูดถึงโครงกระดูกผู้หญิงที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของเทศกาลนี้ก็คงไม่ได้ ชื่อดั้งเดิมของเธอคือ La Calavera Garbancera เป็นผลงานภาพพิมพ์โลหะของศิลปินนักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองชาวเม็กซิโก โฮเซ่ กัวดาลูเป โพซาดา (Jose Guadalupe Posada)

ภาพของโครงกระดูกสวมหมวกภาพนี้ได้รับการตีพิมพ์อย่างแพร่หลายในช่วงปี 1910-1930 จุดประสงค์คือเสียดสีผู้หญิงเม็กซิโกพื้นเมืองชนชั้นกลางที่อับอายรากเหง้าของตัวเอง และพยายามแต่งตัวเลียนแบบชาวต่างชาติ ทั้งยังทาตัวทาหน้าด้วยเครื่องสำอางเพื่อให้ผิวขาวเหมือนชาวยุโรป และสวมหมวกทรงลูกพลัมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหมวกที่ชาวฝรั่งเศสชั้นสูงนิยมใส่กัน

ต่อมาในปี 1947 ดิเอโก ริเวรา (Diego Rivera) ศิลปินชาวเม็กซิโก สามีของศิลปินหญิงชื่อดัง ฟรีดา คาห์โล (Frida Kahlo) ได้วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังชื่อ “Sueno de una Tarde Dominical en la Alameda Central” หรือ “Dream of a Sunday Afternoon in Alameda Park” เป็นภาพการรวมตัวกันของบุคคลผู้มีชื่อเสียงในช่วงประวัติศาสตร์ 400 ปีของประเทศเม็กซิโก

วันแห่งผู้ล่วงลับกับคาทริน่า

ในผลงานชิ้นนี้ ดิเอโกนำเอาภาพโครงกระดูกสวมหมวกที่ของเดิมมีแค่ท่อนไหล่มาต่อยอดด้วยการวาดชุดยาวหรูหราแบบเต็มตัวให้เข้ากับหมวก และวางตำแหน่งให้ยืนอยู่กลางภาพ มือข้างซ้ายของโครงกระดูกคล้องแขนกับโพซาดา ซึ่งเป็นผู้สร้างเธอขึ้นมา (ผู้ชายในสูทสีดำ ถือไม้เท้า) ส่วนข้างขวาก็จับมือกับดิเอโกตอนเป็นเด็ก (ผู้ชายตัวเล็ก หมวกสีขาว) มีฟรีดาใส่ชุดพื้นเมืองประจำชาติยืนเยื้องไปด้านหลัง และดิเอโกก็ตั้งชื่อให้กับโครงกระดูกตัวนี้ใหม่ว่า “คาทริน่า-Catrina)”

การรวมตัวกันของบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่กับบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ตายไปแล้วบนจิตรกรรมฝาผนังชิ้นนี้ สื่อถึงมุมมองและแนวคิดของชาวเม็กซิโกที่มีต่อความตายว่าไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวหรือน่าหวาดกลัว แต่เป็นสิ่งที่ชาวเม็กซิโกอ้าแขนรับด้วยความเต็มใจ โครงกระดูกในชุดสตรีสูงศักดิ์ หรือ คาทริน่า ในบริบทของภาพนี้จึงไม่ได้เป็นเพียง La Calavera Garbancera แต่ยังได้รับการเชื่อมโยงถึง Lady of the Dead หรือเทพีแห่งความตาย ตามความเชื่อของชาวแอซเท็กอีกด้วย

วันแห่งผู้ล่วงลับกับคาทริน่า

เมื่อเวลาผ่านไป คาทริน่าก็กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเทศกาลเฉลิมฉลองวันแห่งผู้ล่วงลับ และเป็นเทพีแห่งความตายที่ชาวเม็กซิโกรักใคร่ และการที่ชาวเม็กซิโกแต่งตัวเป็นคาทริน่า ทำเค้ก ทำขนมปัง และคุกกี้ รูปคาทริน่า หรือมีของแต่งบ้านเป็นลวดลายคาทริน่า ฯลฯ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการหยอกล้อกับความตายด้วยอารมณ์ขันทั้งสิ้น

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน