โลงลายผ้าขาวม้า ร.ร.ต้นบากราษฎร์บำรุง

คอลัมน์ สดจากเยาวชน

โลงลายผ้าขาวม้า – แม้ในเวลาปกติจะสอนวิชาคณิตศาสตร์ แต่ คุณครูดรุณี รุยัน ครูชำนาญการพิเศษ วัย 59 ปี โรงเรียนต้นบากราษฎร์บำรุง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ตรัง เขต 1 กลับชอบวิชาการงาน โดยเฉพาะการประดับตกแต่งซึ่งชื่นชอบและทำมาตั้งแต่เด็กๆ ก่อนพัฒนาก้าวไกลเป็นอาชีพเสริมในเวลาต่อมา เน้นการนำวัสดุ ท้องถิ่นหรือวัสดุเหลือใช้มาประยุกต์ อาทิ ดอกไม้สด ดอกไม้แห้ง ใบยางพารา ใบยางอินเดีย กระดาษทิชชู ก่อเกิดเป็นชิ้นงานต่างๆ

โลงลายผ้าขาวม้า

คุณครูดรุณีถ่ายทอดวิชา

สิ่งสำคัญยิ่งกว่าก็คือการพยายามถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านนี้ไปยังครูหรือเจ้าหน้าที่ในโรงเรียน รวมทั้งนักเรียนและผู้สนใจในชุมชนแบบ ไม่หวงวิชา โดยเฉพาะเมื่อย้ายมาอยู่ที่โรงเรียนต้นบากราษฎร์บำรุง เมื่อปี 2554 ล่าสุดสร้างสรรค์ผลงานนำภูมิปัญญาพื้นบ้านมาผสมผสานกับวัฒนธรรมและความเชื่อของไทย ร่วมกับ 2 หนุ่มบุคลากรทางการศึกษา นายยุทธชัย มากผล ครูธุรการ และ นายศักดิ์ศิริ อุทก นักการภารโรง โดยการสนับสนุนจาก นายสุรพล มุสิกพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียน

โดยปกติผ้าขาวม้าที่ถักทอขึ้นตามท้องถิ่นต่างๆ มักนำไปใช้งานในการสวมใส่เป็นเครื่องแต่งกาย แต่คุณครูดรุณีกลับมองเห็นประโยชน์ที่มากกว่านั้น ดีไซน์ให้ผ้าขาวม้าออกมาโดดเด่นสวยงามด้วยการใช้ประดับตกแต่งรอบโลงศพหรือหีบศพแทนดอกไม้สด ได้ทั้งความเป็นเอกลักษณ์ควบคู่ความแปลกใหม่แต่ลงทุนไม่มาก ทั้งยังสามารถนำ ผ้าขาวม้าไปใช้ประโยชน์ในภายหลังได้ด้วย

โลงลายผ้าขาวม้า

โลงลายผ้าขาวม้า

โลงลายผ้าขาวม้า

โลงลายผ้าขาวม้า

แม้จะต้องใช้เวลานานถึง 5 ชั่วโมง และต้องใช้หลักคณิตศาสตร์มาช่วยคำนวณ ทั้งขนาด สี ลวดลาย ฯลฯ อีกทั้งยังต้องค่อยๆ ทำด้วยความใจเย็นในทุกขั้นตอน ทั้งจับ พับ จีบ ขึง ดึง และอีกสารพัดวิธี เพื่อให้ผ้าขาวม้าออกมาเป็นดอกเและลวดลายแปลกใหม่ อาทิ ตาสับปะรด รังผึ้ง แทนที่จะใช้วัสดุอื่นๆ มาแกะเป็นลายกนก หรือที่ภาษาใต้เรียกกันว่า “ลายแคว็กนก” แล้วติดไว้รอบโลงศพแบบทั่วไป อย่างไรก็ตามผลงานที่ออกมาถือว่า คุ้มค่ายิ่งนักสำหรับโลงไทยประยุกต์ลายผ้าขาวม้าที่หาชมยากนี้

โลงลายผ้าขาวม้า

จุดเริ่มต้นของโลงศพลายผ้าขาวม้าเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว เมื่อคุณครูดรุณีได้รับการร้องขอให้ไปช่วยประดับตกแต่งรอบโลงศพคุณพ่อของคุณครูเชือบ แดงชู ครูโรงเรียนเดียวกัน หลังจากนั้นก็มีผู้ที่ชื่นชอบมาขอให้ไปช่วยประดับตกแต่งรอบโลงศพบุคคลอื่นยังวัดต่างๆ ไม่ขาดสาย อาทิ วัดนานอน วัดน้ำพราย วัดหนองเป็ด หรือแม้กระทั่งตามต่างจังหวัด เช่น กระบี่ บางครั้งคุณครูดรุณีจะชักชวนครู เจ้าหน้าที่ และนักเรียนที่สนใจและเคยได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปร่วมกิจกรรมด้วย

การประดับตกแต่งรอบโลงศพแบบลายกนกมีค่าใช้จ่ายประมาณโลงละ 8,500 บาท แต่หากเป็นแบบผ้าขาวม้าจะมีค่าใช้จ่ายประมาณโลงละ 8,000 บาท แยกออกเป็นค่าผ้าขาวม้า ประมาณ 60 ผืน หรือเท่ากับอายุของผู้วายชนม์ รวมทั้งค่าวัสดุอื่นๆ และค่าแรง สำหรับผ้าขาวม้าที่แกะออกมาหลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรมแล้วชาวบ้านถือว่ามีความขลังมาก ลูกหลาน ญาติสนิทมิตรสหายหรือแขกที่มาช่วยกันยกศพไปฌาปนกิจจะเก็บผ้าขาวม้าเหล่านี้ไว้เป็นที่ระลึก

ด้วยเหตุนี้ในโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ของโรงเรียนต้นบากราษฎร์บำรุง คุณครูดรุณีจึงนำวิชาการประดับตกแต่งด้วยผ้าขาวม้ามาสอนให้เด็กๆ ชั้น ป.5-6 สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ช่วงก่อนเลิกเรียน นักเรียนต่างให้ความสนใจไม่น้อยเพราะนำไปประยุกต์ใช้กับงานต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ อาทิ การตกแต่งโต๊ะรับแขก การจัดนิทรรศการ งานแต่ง งานศพ โดยไม่จำเป็นต้องจ้างบุคคลอื่นมาทำให้ เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน

โลงลายผ้าขาวม้า

ณัฐวดี ณัฐณิชา ณัฐสุดา และกัญฐมณี

สองรุ่นน้องชั้น ป.5 น้องฟ้า ด.ญ.กัณฐมณี เรืองจันทร์ และ น้องฟ้า ด.ญ.ณัฐสุดา คงยิ้ม ร่วมกับสองรุ่นพี่ชั้น ป.6 น้องจิ๊บ ด.ญ.ณัฐวดี เพชรอินทร์ และ น้องนุก ด.ญ.ณัฐณิชา เสนเอียด ถือป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการช่วยคุณครูถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการประดับตกแต่งด้วยวัสดุในท้องถิ่นหรือวัสดุเหลือใช้โดยเฉพาะผ้าขาวม้าไปยังเพื่อนๆ และน้องๆ ในโรงเรียนด้วยความภาคภูมิใจ ตลอดจนสร้างตัวอย่างที่ดีให้เด็กรุ่นใหม่ที่สนใจร่วมสืบทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ดีงาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน