มิสซา-บูชาขอบพระคุณ

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

น้าชาติคะ พิธีบูชาขอบพระคุณ คืออะไร

เบญญา

ตอบ เบญญา

มีคำอธิบายอยู่ในเว็บไซต์ www.ratchaburidio.or.th/ของสังฆมณฑลราชบุรี คุณพ่อไพศาล ยอแซฟ อรรถาธิบายถึงศัพท์ “มิสซา” และ “บูชาขอบพระคุณ” ไว้ว่า มิสซา (Missa) เป็นคำที่คาทอลิกใช้เรียกพิธีศีลมหาสนิท (The Blessed Sacrament) กันมาช้านาน จนกระทั่งปี ค.ศ. 2000 คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพิธีกรรมได้ทำการปรับปรุงบทประจำมิสซา (Ordo Missae)

ที่ใช้กันอยู่นั้นให้ถูกต้องตามต้นฉบับ จึงเห็นสมควรให้ปรับเปลี่ยนชื่อ ซึ่งปัจจุบันใช้ว่า Celebratio Eucharistia ตรงกับภาษาไทยว่า พิธีบูชาขอบพระคุณ แต่เนื่องจากคณะกรรมการเกรงว่าสัตบุรุษจะเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นพิธีกรรมใหม่ จึงให้รักษาคำว่ามิสซาเอาไว้และเพิ่มคำว่าบูชาขอบพระคุณเข้าไป

จึงเป็นพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณซึ่งก็ใช้กันนับแต่นั้นมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว และในปี ค.ศ. 2011 คณะกรรมการเห็นว่าสัตบุรุษเกิดความเข้าใจแล้วว่ามิสซาและบูชาขอบพระคุณคือสิ่งเดียวกัน ดังนั้นจึงมีประกาศให้แยกคำสองคำนี้ออกจากกัน ถ้าจะใช้ก็ให้ใช้คำใดคำหนึ่งเพียงคำเดียวเท่านั้น ซึ่งอาจจะทำให้สัตบุรุษบางท่านเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับคำสองคำนี้ จึงขออธิบายอย่างสรุปเพื่อให้เข้าใจดังนี้

มิสซา (Missa) เป็นคำในภาษาละติน ที่ใช้เรียกพิธีศีลมหาสนิทในพระศาสนจักรตะวันตก หรือนิกายโรมันคาทอลิก (Roman Catholic Church) ซึ่งมีที่มาจากวลีที่ว่า Ite missa est ที่พระสงฆ์กล่าวตอนปิดพิธี Pohle (1911) อธิบายว่าคำนี้เริ่มใช้ในศตวรรษที่ 7 คือหลังสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาเกรโกรีผู้ยิ่งใหญ่ (Pope Gregory the Great) ซึ่งสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 604

บูชาขอบพระคุณ (Eucharistia) เป็นคำในภาษากรีก ใช้เรียกพิธีศีลมหาสนิทในพระศาสนจักรมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่ม มีคุณลักษณะสำคัญ 2 ประการคือ เป็นยัญบูชา และเป็นการประทับอยู่ของพระเยซูคริสต์ในรูปปรากฏของแผ่นปังและเหล้าองุ่น (Pohle, 1909)

ซึ่งนอกจากคำสองคำนี้แล้ว ยังมีคำอื่นๆ อีกหลายคำที่ใช้เรียกพิธีศีลมหาสนิท เช่น อาหารค่ำขององค์พระผู้เป็นเจ้า (Coena Domini) โต๊ะขององค์พระผู้เป็นเจ้า (Mensa Domini) พระกายขององค์พระผู้เป็นเจ้า (Corpus Domini) ศักดิ์สิทธิ์แห่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย (Sanctissimum)

ดังนั้นจึงเป็น การถูกต้องที่คณะกรรมการให้แยก คำทั้งสองนี้ออกจากกัน เพราะแท้ที่จริงแล้วมีความหมายเดียวกัน เพียงแต่แตกต่างกันในรูปของคำและต้นกำเนิด สำหรับการใช้นั้นก็ให้เลือกแต่คำใดคำหนึ่งว่าจะเป็น มิสซา หรือ บูชาขอบพระคุณ เช่น ขอเชิญร่วมพิธีมิสซาปลงศพ หรือ ขอเชิญร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณปลงศพ ส่วนพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณนั้นเป็นการกล่าวถึงสิ่งเดียวกันสองครั้งซึ่งทำให้ซ้ำซ้อนและเยิ่นเย้อ

ยังมีคำอธิบายอยู่ในเว็บไซต์ซานความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชนหลากวัฒนธรรม www.thailocalwisdom.com/ ว่า พิธีมิสซาคือพิธีบูชาขอบพระคุณในความเป็นหนึ่งเดียวกันของคริสตชน โดยมีองค์พระเยซูเจ้าเองเป็นเครื่องบูชาเพื่อไถ่บาปแทนมนุษย์ อาศัยพระกายและพระโลหิตที่ยอมสละและพลีชีวิต ดังนั้น พิธีมิสซาจึงควรเป็นพิธีของส่วนรวมในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่คริสตชนจะขอบพระคุณพระเจ้าที่ได้ทรงประทานพระบุตรของพระองค์ลงมาไถ่บาปแทนมนุษย์ทุกคน

ในความเป็นจริง คำว่า มิสซา หมายถึงการถูกส่งไปเพื่อประกาศข่าวดี และเป็นแบบอย่าง รวมทั้งมอบตนเองและชีวิตให้มีคุณค่าต่อคนอื่นๆ เช่นเดียวกันกับที่ได้รับจากพระเจ้า ความหมายที่แท้จริงของคำว่ามิสซาจึงไม่ถูกต้องตรงกับที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ควรเรียกพิธีกรรมในปัจจุบันว่า พิธีบูชาขอบพระคุณ (Eucharistia Celebration) โดยเน้นที่ความหมายของพิธีกรรมว่า เป็นการขอบพระคุณอย่างแท้จริง

คือ พระเยซูเจ้าเป็นทั้งผู้ถวายและเป็นเครื่องบูชาเอง โดยผ่านทางพิธีการ หักปังบนพระแท่นเพื่อขอบพระคุณพระบิดา สำหรับการส่งพระบุตรให้มาไถ่กู้มนุษยชาติ จะเห็นได้ว่าคำว่ามิสซาไม่ตรงกับคำศัพท์และความหมายทางพิธีกรรม เพียงแต่มีความเข้าใจและถือกันมาจากธรรมเนียมประเพณีเดิมมากกว่าพิธีมิสซา

ในพิธีมิสซา คริสตชนเชื่อว่า องค์พระเยซูเจ้าประทับอยู่อย่างแท้จริงใน 3 วิธีการ คือ 1.จากพระวาจาของพระองค์ ในบทอ่านจากพระคัมภีร์พิธีมิสซา 2.ระหว่างการเสกปัง และเหล้าองุ่น เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการที่พระเยซูเจ้าจะสถิตอยู่ในพิธีมิสซา เพราะเป็นการรื้อฟื้นการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูเจ้า และ 3.การรับศีลมหาสนิท ซึ่งเป็นปังทรงชีวิต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน