.เกษตรสถาบันปิโตรเลียมทช.

วางปะการังเทียมฟื้นฟูเกาะพะงัน

โดย พรพิมล แย้มประชา

วางปะการังเทียมเกาะพะงันมีพื้นที่ 168 ตารางกิโลเมตร เป็นอำเภอที่เล็กสุดของจ.สุราษฎร์ธานี ที่ไม่ได้มีดีแค่ฟูลมูนปาร์ตี้อันเลื่องชื่อในคืนพระจันทร์เต็มดวง (ขึ้น 15 ค่ำ) หรือแค่งานเฉลิมฉลองให้เกิดความบันเทิงตามยุคสมัยในสถานบันเทิงที่หาได้ไม่ยากตามหัวเมืองใหญ่ของจังหวัด แต่ยังมีผืนป่าลาดชันแทรกตัวอยู่บนที่ราบ ตามหุบเขาสลับเทือกเขาสูงซับซ้อนทอดตัวจรดทะเลเป็นอ่าว

ขาแท่นปิโตรเลียม

ถูกโอบล้อมด้วยน้ำทะเลสีคราม อุดมด้วยทรัพยาการทางธรรมชาติแบบป่าดงดิบแล้งที่ปกคลุมไหล่เขาและป่าดิบชื้นเขียวชอุ่มเย็นตา ถูกใจขาลุยอย่างนักท่องเที่ยวแบบแบ๊กแพ็ก รวมทั้งหมู่บ้านชาวประมงที่โฉลกหลำ เชื้อเชิญผู้มาเยือนตลอดทั้งปี

จากอดีตพื้นที่นี้มีปัญหาการรุกล้ำชายฝั่งของเรือประมงผิดกฎหมาย ชาวประมงพื้นบ้านบนเกาะพะงันที่มีเรืออยู่ประมาณ 300 ลำ เรือประมงพาณิชย์ขนาดเล็กประมาณ 10 ลำ ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ประเภทเรืออวนลาก อวนรุนกวาดเก็บปลาเล็กปลาน้อยไปจนหมด

ปี 2556 สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ริเริ่มโครงการจัดวางปะการังเทียมจากโครงสร้าง เหล็กขาแท่นบริเวณเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเป้าหมายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และทรัพยากรสัตว์น้ำ

ฝูงปลากับปะการังเทียมจากขาแท่น

นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เผยว่า จากการติดตามและประเมินผลด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจัดวางโครงสร้างเหล็กขาแท่นเป็นปะการังเทียมที่ระดับความลึกประมาณ 18-20 เมตร ห่างจากชายฝั่งประมาณ 1 กิโลเมตร 2 จุด จุดละ 2 โครงสร้างเมื่อเดือนก.. 2556 จนถึงปัจจุบัน 6 ปีเศษ พบว่าปะการังเทียมเป็นแนวป้องกันการลักลอบทำการประมงเครื่องมือทำลายล้าง อวนลาก อวนรุน ในระบบนิเวศชายฝั่งทะเลอย่างได้ผล

ที่สำคัญพื้นผิวโครงสร้างเหล็กยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนที่จะเจริญเติบโตเป็นสัตว์เศรษฐกิจในอนาคต และเป็นบ้านให้ปะการังยึดเกาะ อาทิ ฟองน้ำ สาหร่ายท่อ เพรียงหิน เพรียงภูเขาไฟ แพลงตอนพืช แพลงตอนสัตว์ ที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร มีปลาอย่างน้อย 24 ชนิดอาศัยบริเวณแนวปะการัง เกิดประโยชน์ต่อการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งกว่า 80% เป็นปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ทากทะเล

แม้แต่ชาวประมงในเกาะพะงันลุงประเสริฐ คงขน ก็ยอมรับว่าตั้งแต่มีโครงการโครงสร้างเหล็กขาแท่นวางเป็นแนวปะการังเทียม ช่วยให้ชาวประมงพื้นบ้านหาปลาได้ง่ายขึ้น เพราะหากป้องกันเรือพาณิชย์เข้ามาแย่งปลาจากเรือประมงพื้นบ้านได้สัก 8 เดือน ปลาและสัตว์น้ำเศรษฐกิจต่างๆ ก็มีเวลาเพียงพอที่จะฟื้นปริมาณให้เพิ่มขึ้น

สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ร่วมกับภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างพิจารณานำขาแท่นผลิตปิโตรเลียมที่ปลดระวางแล้วมาวางเป็นแนวปะการังเทียมเพิ่มอีก 8 ขา บริเวณเกาะพะงันที่อยู่ระหว่างศึกษาพื้นที่ 6 จุด ห่างจากฝั่งประมาณ 8 ไมล์ทะเลจากเกาะพะงัน และ 7 ไมล์ทะเลจากหินใบ

ทีมสำรวจ

กิจกรรมดำน้ำท่องท้องทะเลชมปะการังที่บ้านโฉลกหลำ จึงเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด

นายจันทร์โชติ พิริยะสถิตย์ ผู้จัดการ บริษัท โลตัสไดว์วิ่ง จำกัด เล่าให้ฟังถึงความสำเร็จของโครงการนี้ ทำให้ได้พบสัตว์ทะเลคุ้มครองในกลุ่มสัตว์ทะเลหายากมากขึ้น เช่น เต่าทะเล โลมา ฉลามวาฬ วาฬบรูด้า หอยมือเสือเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ หอยแมลงภู่ยักษ์ก็มีมาแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนที่นี่ เพราะเกาะพะงันเป็นทะเลเปิด ไม่ใช่แหล่งอาศัยของหอยแมลงภู่ที่ส่วนใหญ่จะอาศัยหรือเพาะเลี้ยงกันบริเวณปากน้ำ ชาวบ้านก็ช่วยกันอนุรักษ์กันมากขึ้นจากไม่กี่คน เพื่อช่วยกันรักษาสมดุลของวิถีและธรรมชาติของเกาะพะงัน ให้คงอยู่ตลอดไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน