พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

คอลัมน์ : รู้ไปโม้ด โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต – อยากทราบประวัติทั้ง 2 ท่านที่เป็นบุคคลสำคัญของโลกที่เพิ่งประกาศยกย่อง

พี่ลำใย

ตอบ พี่ลำใย

ที่ประชุมใหญ่สมัยสามัญองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ครั้งที่ 40 ประกาศเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 มีมติรับรองการร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบบุคคลสำคัญ และเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์วาระพุทธศักราช 2563-2564 โดยประกาศยกย่องบุคคลสำคัญของประเทศไทยรวม 2 รูป ในสาขาสันติภาพ มีคุณูปการด้านพระพุทธศาสนา วิปัสสนากรรมฐาน การศึกษา การพัฒนาความเจริญงอกงามด้านจิตใจ ตลอดจนการปกครองคณะสงฆ์

ได้แก่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ครบรอบ 150 ปีชาตกาล ในวันที่ 20 มกราคม 2563 และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณ วโรรส ครบ 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ ในวันที่ 2 สิงหาคม 2464

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์พระป่า ผู้นำด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานที่มีศิษยานุศิษย์เจริญรอยตามมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นพระมหาเถระที่คนไทยทั้งประเทศเคารพนับถือ จนปรากฏเด่นชัดทั้งในขณะที่ท่านยังมีชีวิตดำรงอยู่และละสังขารขันธ์ไปแล้ว ส่วนสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นนักการนักศึกษาและนักปกครองที่มีส่วนสำคัญทำให้คณะสงฆ์เป็นปึกแผ่น

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หรือหลวงปู่มั่น หรือนามตามสมณศักดิ์ พระครูวินัยธรมั่น ภูริทัตโต ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ท่านปฏิบัติตนตามคำสอนพระศาสดาอย่างเคร่งครัด ยึดถือธุดงควัตรด้วยจริยวัตรปฏิปทางดงาม ทั้งวางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าแก่สมณะประชาชนอย่างกว้างขวาง หลังจากมรณภาพยังคงมีพระสงฆ์สืบต่อแนวปฏิปทาธรรมปฏิบัติสืบมา

นามเดิม มั่น แก่นแก้ว เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม 2413 ณ บ้านคำบง ตำบลสงยาง อำเภอโขงเจียม (ปัจจุบันคืออำเภอศรีเมืองใหม่) อุบลราชธานี เมื่ออายุได้ 15 ปี บรรพชาเป็นสามเณร แต่บวชได้ 2 ปีต้องลาสิกขามาช่วยการงานทางบ้าน กระทั่งหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล เดินธุดงค์มาปักกลดอยู่ที่บ้าน คำบง ได้เข้ารับใช้ด้วยจิตศรัทธาก่อนถวายตัวเป็นศิษย์ติดตามเข้าเมืองอุบลราชธานี

อายุ 23 ปี อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเลียบ อุบลราชธานี ได้รับขนานนามเป็นภาษามคธว่า ภูริทตฺโต แปลว่า ผู้ให้ปัญญา ภายหลังท่านสงสัยในผู้บวชให้และผ้าสังฆาฏิ พระครูวิจิตรธรรมภาณี (จันทร์ สิริจนฺโท) จึงให้ท่านทำทัฬหีกรรมที่แพกลางแม่น้ำมูล โดยพระอาจารย์ม้าว เทวธมฺมี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิจิตรธรรมภาณี (จันทร์ สิริจนฺโท) และพระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล) เป็นคู่กรรมวาจาจารย์

ท่านถือวัตรปฏิบัติธุดงค์วิเวกจาริกไปตามลำแม่น้ำโขงทั้งฝั่งไทยและลาว ทั้งในเขตอุบลราชธานี นครพนม สกลนคร เลย และพม่า ก่อนปักหลักบำเพ็ญเพียรที่ถ้ำสาริกา นครนายก ธุดงค์ไปยังลพบุรี แล้วรับนิมนต์จำพรรษาในกรุงเทพฯ ในปี 2457 ให้การอบรมด้านวิปัสสนากรรมฐานแก่พระสงฆ์สามเณรและฆราวาส ณ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ต่อมาธุดงค์ไปยังอีกหลายจังหวัดในภาคอีสาน เริ่มเทศนาอบรมธรรมปฏิบัติจิตตภาวนาแก่พระภิกษุสามเณรและฆราวาสญาติโยม มีคณะศิษย์ติดตามมากมาย

พ.ศ.2471 เป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เชียงใหม่ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูวินัยธร และพระอุปัชฌาย์ ผ่านไป 1 พรรษา ท่านพิจารณาว่า “สกฺกาโร ปุริสํ หนฺติ ลาภสักการะฆ่าบุรุษให้ตาย” สละตำแหน่งเจ้าอาวาสและพระอุปัชฌาย์แล้วธุดงค์วิเวกตามป่าเขาในภาคเหนือเป็นเวลานาน 12 ปี อยู่ในเขตอำเภอพร้าว เชียงดาว แม่ริม สันป่าตอง เชียงใหม่ และอำเภอแม่สาย เวียงป่าเป้า แม่สรวย จังหวัดเชียงราย

พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต บรรลุธรรมอันสูงสุด ณ ถ้ำดอกคำ ตำบลน้ำแพร่ อำเภอพร้าว เชียงใหม่ และในกาลต่อมาได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ให้บรรลุธรรมสูงสุดเป็นจำนวนมาก ท่านยังเดินธุดงค์ไปยังนครราชสีมา อุดรธานี สกลนคร กระทั่งช่วงปัจฉิมวัยได้จำพรรษา ณ วัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม สกลนคร (วัดป่าภูริทัตถิราวาสในปัจจุบัน) ทุ่มเทสอนอุบายธรรมเพื่อการหลุดพ้นให้รู้แจ้งเห็นจริงตามอริยสัจแก่ลูกศิษย์ตราบจนวาระสุดท้าย ละสังขารเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2492 อายุ 79 ปี 56 พรรษา ณ วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร

ท่านแตกฉานในอรรถ แตกฉานในธรรม แตกฉานในภาษา แตกฉานในปฏิภาณ ปฏิปทาที่ยึดมั่นมาตลอดชีวิตคือธุดงควัตร 7 ประการ คือ ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุล, ถือภิกขาจารวัตร เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์, ถือฉันในบาตร ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์, ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์, ถือลงมือฉันแล้วไม่ยอมรับเพิ่ม, ถือใช้ผ้าไตรจีวร 3 ผืน และถือละเว้นการอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน

ฉบับพรุ่งนี้ (3 ธ.ค.) อ่านพระประวัติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน