คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

น้าชาติ ประชาชื่น [email protected]

น้าชาติครับ อยากทราบการก่อตั้งคณะราษฎร หมายถึงก่อนการปฏิวัติ 2475 นะครับ

ลุงไม่แก่

ตอบ ลุงฯ

โพสต์ถามข้อความนี้ ตั้งใจจะเก็บไว้ตอบใกล้วาระประวัติศาสตร์วันที่ 24 มิถุนายน แต่ยามนี้ เมื่อเกิดเหตุ “หมุดคณะราษฎร” ถูกทำให้หายไป จึงนำขึ้นมาตอบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเรียบเรียงจากข้อมูลที่วิกิพีเดียรวบรวมไว้

คณะราษฎร (อ่านว่า คะ-นะ-ราด-สะ-ดอน) คือกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ.2475 ยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศสยามจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญ

ย้อนไปก่อนหน้า ราชอาณาจักรสยามปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กระทั่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาติได้ประสบกับปัญหาซึ่งเกิดจากรัฐบาลต้องรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจที่ร้ายแรงและภัยคุกคามจากต่างชาติ (จักรวรรดิอังกฤษและจักรวรรดิฝรั่งเศส) นอกจากนี้ ประเทศยังประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมขนานใหญ่ เมื่อชาวเมืองและชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานครขยายจำนวนขึ้น พร้อมกับการเรียกร้องสิทธิและวิจารณ์ว่ารัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ

คณะราษฎรประกอบด้วย กลุ่มบุคคลผู้ต้องการให้มีการเปลี่ยน แปลงการปกครอง (ชื่อ “คณะราษฎร” นายปรีดี พนมยงค์ เสนอตั้งขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2470 ด้วยผู้ก่อการฯ ทุกคนเป็นราษฎรไทยแท้จริง และยอมอุทิศตนและความเหนื่อยยากเพื่อราษฎรบรรลุถึงซึ่งประชาธิปไตย ดังที่ ประธานาธิบดีลินคอล์นได้สรุปคำว่า “ประชาธิปไตย” ไว้อย่างเหมาะสมว่า “รัฐบาลของราษฎร, โดยราษฎร, เพื่อราษฎร”-ข้อมูลจากสารคดี) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและนักเรียนทหารที่ศึกษาและทำงานอยู่ในทวีปยุโรป โดยเริ่มต้นจาก ปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย และประยูร ภมรมนตรี นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ก่อนที่จะหาสมาชิกที่มีความคิดแบบเดียวกันเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้นเป็น 7 คน ได้แก่

1.ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี นายทหารกองหนุน อดีตผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์รัชกาลที่ 6 นักเรียนวิชารัฐ ศาสตร์ ฝรั่งเศส 2.ปรีดี พนมยงค์ ดุษฎีบัณฑิตกฎหมายฝ่ายนิติศาสตร์ ฝรั่งเศส 3.ร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ นักเรียนวิชาทหารปืนใหญ่ ฝรั่งเศส 4.ร้อยตรีทัศนัย มิตรภักดี นักเรียนโรงเรียนทหารม้า ฝรั่งเศส 5.ตั้ว ลพานุกรม นักเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 6.จรูญ สิงหเสนี ผู้ช่วยราชการสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส และ 7.แนบ พหลโยธิน นักเรียนวิชากฎหมาย เนติบัณฑิตอังกฤษ

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2469 คณะราษฎรนัดประชุมครั้งแรกที่บ้านพักเลขที่ 9 ถนนซอมเมอราร์ด กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ผู้เข้าร่วมประชุมมี 7 คนดังกล่าว การประชุมกินเวลาติดต่อกันนานถึง 4 คืน 5 วัน โดยมี ร.ท.แปลก ที่สมาชิกคนอื่นๆ เรียกว่า “กัปตัน” เป็นประธาน ที่ประชุมลงมติให้ นายปรีดี เป็นประธานและหัวหน้าคณะราษฎร จนกว่าจะมีบุคคลที่เหมาะสมมาเป็นในกาลต่อไป

 

ที่ประชุมมีมติตกลงที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย โดยตกลงที่ใช้วิธีการ “ยึดอำนาจ โดยฉับพลัน” รวมทั้งพยายามหลีกเลี่ยงการนองเลือด เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในการปฏิวัติฝรั่งเศสและการปฏิวัติรัสเซีย ทั้งนี้เพื่อป้องกันการถือโอกาสเข้ามาแทรกแซงจากมหาอำนาจ ที่มีอาณานิคมอยู่ล้อมรอบสยามในสมัยนั้น คือ อังกฤษและฝรั่งเศส

ในการประชุมครั้งนั้น คณะราษฎรได้ตั้งปณิธานในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อให้สยามบรรลุเป้าหมาย 6 ประการ ซึ่งหลังจากยึดอำนาจได้แล้วต่อมาได้ประกาศเป้าหมาย 6 ประการนี้ไว้ในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 และต่อมาได้เรียกเป็น “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร” คือ

1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชใน บ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง

2.จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกัน ลดน้อยลงให้มาก

3.จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4.จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่

5.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น

และ 6.จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ฉบับพรุ่งนี้ (25 เม.ย.) ถึงช่วงเวลาคณะราษฎรเดินทางกลับสู่สยาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน