บรมราชภูษิตาภรณ์

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย น้าชาติ ประชาชื่น

ขอความรู้เรื่องฉลองพระองค์ บรมราชภูษิตาภรณ์

คุณแก้ว

ตอบ คุณแก้ว

ฉลองพระองค์ บรมราชภูษิตาภรณ์หรือฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์ หรือพระราชทานสำหรับพระราชวงศ์ ตลอดจนขุนนางและข้าราชการใช้สวมใส่เมื่อเข้าร่วมในงานพระราชพิธีที่สำคัญ เพื่อแสดงบรรดาศักดิ์และตำแหน่งของผู้สวมใส่ และเป็นเครื่องแบบเต็มยศที่ใช้สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ

โดยฉลองพระองค์ครุยพระราชวงศ์จะมีเพียงรูปแบบเดียวเท่านั้น ต่างจากครุยแบบอื่นๆ ที่นอกเหนือจากฉลองพระองค์ครุยพระมหากษัตริย์แล้ว ยังมีฉลองพระองค์ครุยพระราชวงศ์ ครุยพราหมณ์ ครุยขุนนาง ครุยเสนามาตย์ชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี ครุยเจ้านาค และครุยวิทยฐานะ (เช่น ครุยปริญญาหรือครุยบัณฑิต)

ผ้าที่นิยมใช้ในการทำฉลองพระองค์ครุยสำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์มีหลายชนิด ที่สำคัญคือ ผ้ากรองทอง เป็นผ้าที่เกิดจากการนำเส้นลวดทองหรือไหมทองมาถักประกอบกันเป็นผืนผ้า ปักทองลายก้านแย่งหรือพื้นสีสลับทองหรือขาวสลับทอง มีสีดำรดขอบ สำรดต้นพระกร ปลายพระกร และสำรดฉลองพระองค์ครุย พื้นกรองทอง ปักทองหรือใช้ ทองเส้นหยาบ ขลิบลูกไม้ทอง นอกจากจะมีความสวยงาม ฉลองพระองค์ครุยพระมหากษัตริย์ยังมีน้ำหนักมากถึงประมาณ 7-8 กิโลกรัม

ฉลองพระองค์ครุยของพระมหากษัตริย์แต่เดิมไม่ทราบว่าลวดลายเป็นอย่างไร จนเมื่อมีการถ่ายภาพในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และโปรดให้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ขณะทรงฉลองพระองค์ครุยไว้ แต่ไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ ยังคงเรียกตามวัสดุและลวดลายที่ปักลงบนฉลองพระองค์ครุย เช่น ฉลองพระองค์ครุยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงสวมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ปักเป็นรูปเพชราวุธอยู่ในกรอบพุ่มข้าวบิณฑ์ทั้งองค์

รัชกาลที่ 1 เรียกว่า ฉลองพระองค์ครุยปักทองแล่ง, รัชกาล ที่ 2 เรียกว่า ฉลองพระองค์ครุยพื้นแดงกรองทอง, รัชกาลที่ 3 เรียกว่า ฉลองพระองค์ครุยปักทองแล่ง, รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 เรียกเพียงฉลองพระองค์ครุย และรัชกาลที่ 6 เรียกว่า ฉลองพระองค์ครุยกรองทองริ้วปัตหล่า [ปัดตะหฺล่า]

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ฉลองพระองค์ครุยที่ทรงสวมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงใช้ฉลองพระองค์ครุยกรองทอง ซึ่งมีลักษณะ เช่นเดียวกับฉลองพระองค์ครุยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสวมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกองค์หนึ่ง แต่ลวดลายต่างกัน ต่อมาโปรดให้สร้างฉลองพระองค์ครุย ขึ้นใหม่ ปักลวดลายเป็นรูปจักรกับตรีอยู่ในกรอบพุ่มข้าวบิณฑ์ทั้งองค์ วัสดุที่ใช้ปักคือทองแล่ง

ปัจจุบันการสวมเสื้อครุยในราชสำนักเห็นได้จากงานพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ในการแต่งเครื่องแบบเต็มยศใหญ่ ทั้งของพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นอกจากนี้ผู้พิพากษาที่เป็นเนติบัณฑิต เมื่อขึ้นบัลลังก์พิจารณาคดีก็ให้สวมเสื้อครุยเช่นกัน รวมถึงการสวมเสื้อครุยสำหรับบัณฑิตเพื่อเป็นการแสดงวิทยฐานะทางการศึกษาสำหรับบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในสถาบันต่างๆ และการสวมเสื้อครุยสำหรับเจ้านาคที่จะบรรพชาอุปสมบทตามประเพณี เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน