แม้ว่ามาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จะมีการกำหนดห้ามโฆษณา แต่ปัจจุบันกลับพบว่า ธุรกิจน้ำเมา ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย ดำเนินกลยุทธ์ ตราเสมือนหรือ “แบรนด์ DNA” ในการแฝงโฆษณาเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นรูปแบบของการเลี่ยงความผิดทางกฎหมาย ถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ ด้วยการกำหนดให้ห้ามการโฆษณาน้ำเมาโดยเด็ดขาด เช่นเดียวกับการห้ามโฆษณายาสูบ

นายสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าววว่า ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของโรคถึง 200 โรค เป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตกว่า 5 หมื่นคนในประเทศไทยเท่ากับทุก 10 นาทีจะทำให้คนตายและยังสร้างปัญหาสังคมอื่น ๆ ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงไม่สมควรให้มีการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด แต่ในช่วงของการผลักดันพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อปี 2551 ในมาตรา 32 ที่เกี่ยวการโฆษณาถูกแก้ไขจากห้ามโฆษณาเด็ดขาด เปิดช่องให้โฆษณาได้หากเป็นการสร้างสรรค์สังคม ปัจจุบันจึงมีการใช้รูปแบบหนึ่งในการเลี่ยงกฎหมายนี้ คือ ‘แบรนด์ DNA’

ผศ.ดร.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ สาขานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวว่า ตราเสมือนที่ผู้ประกอบการธุรกิจน้ำเมานำมาใช้ โดยมากคล้ายคลึงกับตราสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งตามหลักนิเทศศาสตร์และการสื่อสารทางการตลาดจะเรียกว่า “แบรนด์ DNA” คือตราสินค้าที่นำมาใช้กับผลิตภัณฑ์อื่น จะมีแก่นหรือลักษณะสำคัญของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แฝงอยู่ ทำให้ผู้ที่พบเห็นเข้าใจ รับรู้ และจดจำได้ทันทีว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

จากงานวิจัย เรื่อง “การรับรู้ของประชาชนต่อการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่าน แบรนด์ DNA และสัญลักษณ์ที่มีความคล้ายคลึงกัน” ผลการศึกษาระบุว่า การใช้ ‘แบรนด์DNA’ ส่งผลต่อการรับรู้ถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยการวิจัยเลือกศึกษาในเครื่องดื่มประเภทเบียร์ และ 3 ยี่ห้อที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในปี 2560 เพราะการวิจัยทำในปี 2561-2562 พบว่า แบรนด์ DNA ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยนำตราสินค้าไปใช้กับผลิตภัณฑ์อื่นทั้งน้ำแร่ โซดา น้ำดื่ม กลุ่มตัวอย่างไม่ต่ำกว่า 70% เมื่อเห็นตราเสมือนจะรับรู้และจดจำได้ทันทีว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีผลในการจูงใจให้ดื่มทั้งทางตรงและทางอ้อม

นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนกฎหมายไม่มีความหมาย เพราะเมื่อใช้ตราเสมือนโฆษณาได้ ทำให้ธุรกิจน้ำเมาโฆษณาได้ 24 ชั่วโมง หากจะโฆษณาน้ำดื่มควรใช้ชื่อผลิตภัณฑ์และตราสินค้าอื่น ไม่ใช่เอาชื่อและตราสินค้าที่มีลักษณะแบบเดียวกันหรือคล้ายคลึงตราสินค้าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาใช้ ทั้งนี้รายงานผลการวิจัยฉบับนี้เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่จะนำไปประกอบการดำเนินคดีทางกฎหมาย รวมถึงสนับสนุนฝ่ายนโยบายในการจัดการกับตราเสมือน โดยเครือข่ายจะนำรายงานวิจัยฉบับนี้มอบให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัดในทุกจังหวัดต่อไป และจะติดตามการควบคุมตราเสมือนอย่างใกล้ชิด

นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระบุว่า การใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ มาลงโทษผู้ประกอบการที่ใช้ตราเสมือน ยังมีปัญหาความเข้าใจเรื่องตีความ ดังนั้นการบังคับใช้จึงต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย กฎหมายควรพิจารณาปรับปรุง เพื่อให้ครอบคลุมการนำเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปแก้ไขดัดแปลง หรือใช้เครื่องหมายที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน