เปิดใจสุภกร พงศบางโพธิ์

อธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา

กับการพัฒนาสู่ทศวรรษที่ 2

เปิดใจ‘สุภกร พงศบางโพธิ์’อธิการบดีมพ. – “มหาวิทยาลัยพะเยา(มพ.)” สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศไทย กำลังฉลองในโอกาสก่อตั้งครบ 1 ทศวรรษ ขณะที่ปัจจุบันสถาบันการศึกษามีการแข่งขันสูง ในยุคของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า

รศ.ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา เปิดใจถึงแนวทางของมหาวิทยาลัยในการรับมือกับการเปลี่ยน แปลง และนำพามหาวิทยาลัยพะเยาก้าวสู่มหาวิทยาลัยแถวหน้าของภูมิภาค และระดับโลก รวมถึงการผลิตบัณฑิตเพื่อรับใช้สังคม

จะมีแนวทางอย่างไรนั้น ลองติดตาม

คณะอะไรที่เด็กเลือกเป็นอันดับ 1

ขณะนี้เป็นนิติศาสตร์ วิศวะ ส่วนคณะแพทย์เป็นด้านสาธารณสุข อย่างเภสัชมีคนมาสมัคร 3,000 คน แต่รับได้แค่ 40 คน สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มีคนสนใจเด็กมาเยอะมาก ส่วนอัตราแข่งขันเข้าคณะต่างๆ ตอนนี้ยอมรับว่าเริ่มเบาลง เหมือนมหา วิทยาลัยอื่นๆ อย่างไรก็ตามสายสังคมจะมาเยอะกว่าเพื่อน

แต่ทางมหาวิทยาลัยก็พยายามเชิญชวนให้มาเรียนด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นนโยบายของภาครัฐด้วย โดยการทำ 2 ปริญญาคู่กัน เพราะยุคนี้เด็กรุ่นใหม่ต้องเก่งหลายด้าน เช่น หากเป็นนักกฎหมาย ถ้าไปอยู่กับชุมชนควรจะได้อาชีวอนามัย หรืออนามัยชุมชนเข้าไปด้วย คือเป็น 2 ปริญญาเลยแต่ต้องเรียน 5 ปี

สาเหตุที่จัดการเรียนการสอนแบบนี้ได้ เนื่องจากมีกฎของกระทรวงที่ระบุว่าสามารถจัดโอน หรือเรียนได้หมด ซึ่งนิสิตเรียนแค่ 5 ปี เพราะมีหลายวิชาซ้ำกันอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ปรับตัวได้เร็ว เขาก็พยายามทำอะไรที่ทัน ก็เรียนแค่ 30 หน่วยกิต เช่น เรียนนิติศาสตร์ อนามัยชุมชน 30 หน่วยกิต จากนั้นไปเรียนวิชาบังคับ ส่วนวิชาไหนที่เทียบโอน กันได้ เรียนคล้ายกันมันก็ร่นเวลา

การเรียนการสอน 2 ปริญญานี้มีมาตั้งแต่เริ่มตั้งมหาวิทยาลัยแล้ว เช่น หลักสูตรครูก็ให้รู้ทางครูและศาสตร์ทางอาชีพของนิสิตแต่ละคน เช่นครูฟิสิกส์ต้องได้ทั้งการศึกษาบัณฑิต (กศบ.) และวท..ฟิสิกส์ด้วย สิ่งที่ทำเพิ่มคือเรียนต่อไปอีก 1 ปี โดยเรียนช่วงซัมเมอร์ด้วย

ถามว่าการเรียนแบบนี้หนักไหม ต้องยอมรับว่าเด็กรุ่นใหม่ใส่อะไรเข้าไปสามารถรับได้หมด นิสิตเองสนใจเยอะมาก ในมหาวิทยาลัย มีประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์

หลักสูตรไหนที่นิสิตนิยมเลือกเรียนปริญญาควบ 2 ใบ

เป็นการจับคู่กันระหว่างครูกับศาสตร์อื่นๆ เช่น กฎหมาย ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ซึ่งคณะที่ดูแลด้านนี้แจ้งว่านิสิตจบออกไปขายดีคือไปอยู่ที่ไหนบริษัทรับหมด และได้รับคำชมย้อนกลับมาว่าเด็กมพ.ใช้ได้ คือจะมีทั้งความเป็นครูและมีศาสตร์ที่สอนแน่นมาก การเรียน 2 ปริญญานี้มีมหาวิทยาลัยอื่นมาดูงานเหมือนกัน มองว่าเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ เพราะมพ.เป็นมหาวิทยาลัยใหม่เลยจัดการได้ง่าย และเป็นมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบแล้วด้วย

มีปัญหาจำนวนนักศึกษาน้อยลงหรือไม่

มีปัญหานิดหน่อย จากเดิมช่วงที่รับเยอะเคยรับถึง 7,000 คนต่อปี แต่พอตอนหลังประมาณ 4,500-5,000 คน และปีที่แล้ว 4,400 คน ถือว่ายังลดไม่เยอะ ถามว่าจะแก้อย่างไร มหาวิทยาลัยไม่ได้ไปผลักดันอะไร ก็ทำไปตามที่ควรจะเป็น ต้องยอมรับสภาพแต่ก็มีการปรับตัว โดยเน้นการสอนผู้ใหญ่ด้วย เพราะบางคนมาเรียนต่อเพื่อให้ทันสมัย บางคนต้องการเรียนศาสตร์อื่นเพิ่มเติม หรือบางคนไม่ต้องเรียนเต็มเวลา

นิสิตที่นี่เคยได้รับรางวัลอะไรบ้าง

ในเรื่องของคุณภาพเด็กที่ผ่านมาได้รับรางวัลทุกครั้ง อย่างวิทยาศาสตร์ไปแข่งก็ได้รางวัล วิศวะทำวิจัยอิฐมวลเบาก็ได้รางวัล ภาษาก็ได้รางวัล นั่นแสดงว่าแม้ว่าเด็กไม่ใช่คนเก่งที่สุด แต่พอเขาเข้ามาเรามาปั้นจนเขาทำได้ ทำให้ได้รางวัลระดับชาติเยอะพอสมควร

โครงการ “1 คณะ 1 สัญลักษณ์ความสำเร็จ” (1 faculty 1 Signature) มีการต่อยอดในเชิงธุรกิจอย่างไรบ้าง

โครงการนี้ดำเนินการตั้งแต่ก่อตั้งมหา วิทยาลัย ซึ่งนอกจากจะเน้นโอกาสทางการศึกษาเป็นหลักแล้ว ต้องนึกถึงชุมชนและสังคมด้วย โดยมุ่งหวังและตั้งปณิธานว่ามพ.จะเป็นปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนสิ่งเหล่านี้ต้องอยู่ในใจของบุคลากรและอาจารย์ คือเน้นการศึกษาเพื่อชุมชน จึงกำหนดไว้ว่า แต่ละคณะที่ต้องจัดการเรียนการสอนแล้วให้ทำงานวิจัยเพื่อชุมชน แต่ไม่ได้หมายความว่านำความรู้ไปให้ชุมชนอย่างเดียว ต้องไปศึกษาชุมชนด้วยว่าเขาต้องการอะไร พอได้สิ่งเหล่านี้ก็กลับเข้ามาหามหาวิทยาลัยว่าต้องทำอะไรบ้าง

เดิม มพ.เป็นวิทยาเขตของมหา วิทยาลัยนเรศวร (มน.) จนได้เป็นเอกเทศในปี 2553 ตอนนี้เข้าปีที่ 10 แล้ว เริ่มออกดอกออกผลมาเป็นโปรดักส์แล้ว ต่อยอดสู่ “1 คณะ 1 ผลิตภัณฑ์ที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น ข้าวสร้างสุขที่แปรรูปเพิ่มมูลค่า ผ้าทอไทลื้อบ้านทุ่งมอก

และการแสดงที่เป็นสินค้าวัฒนธรรม น้ำมันกระเทียมที่ทำเป็นกระเทียมเม็ด น้ำพริกปลาส้ม การพัฒนาโคขุนดอกคำใต้ให้ได้เนื้อมีคุณภาพ ผลิตภัณฑ์ผักตบชวาอบพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งการอนุรักษ์นกยูง ที่ทางคณะผู้วิจัยเห็นชัด ว่านกยูงกำลังจะสูญพันธุ์ จึงมองเห็นประโยชน์ร่วมกันในแง่การอนุรักษ์

ส่วนด้านสิ่งแวดล้อมก็ดูเรื่องพื้นที่และการรักษาป่า เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดีตามมา รวมถึงการท่องเที่ยว ทำให้คนหันมาสนใจและส่งผลให้ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์พื้นที่ป่า ซึ่งเชื่อมโยงกันไปหมด

มหาวิทยาลัยพะเยาพร้อมแล้วที่จะก้าวสู่ทศวรรษที่ 2 อย่างมั่นคง ท่ามกลางกระแสโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

โดย…ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน