นพ.สุพจน์ ภูเก้าล้วน ผอ.รพ.กระบี่

‘ห้องผ่าตัด-ห้องไอซียู’มีไม่พอ

สัมภาษณ์พิเศษ

นพ.สุพจน์ ภูเก้าล้วน – ไม่บ่อยนักที่จะได้พูดคุยกับผู้บริหารโรง พยาบาล (ร.พ.) ในต่างจังหวัด ด้วยแต่ละคนมีภาระงานมากมาย วันก่อนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ชวนร่วมเดินทางไปจ.กระบี่ ในโครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรม (Startup Voucher) ซึ่งได้ขยายผลการใช้นวัตกรรมของ สตาร์ตอัพเฮลท์เทค เรื่องนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยาที่ร.พ.กระบี่ จึงได้สนทนากับ นพ.สุพจน์ ภูเก้าล้วน ผอ.ร.พ.กระบี่ ในหลายเรื่องหลายประเด็น

นพ.สุพจน์ ภูเก้าล้วน

ก่อนอื่นนพ.สุพจน์ให้ข้อมูลว่า ร.พ.กระบี่ เป็นร.พ.ทั่วไประดับ S ขนาด 341 เตียง มีบุคลากร 1,085 คน ให้บริการผู้ป่วยนอกโดยเฉลี่ย 1,282 รายต่อวัน ผู้ป่วยใน 314 รายต่อวัน มีประชากรในพื้นที่ 466,393 ราย และได้นำแอพพลิเคชั่นฟาร์มาเซฟ (Pharma Safe) มาใช้ เพื่อช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยใช้ยาได้ถูกต้อง ปลอดภัยและเคร่งครัดมากขึ้น ถูกต้องในที่นี้คือ ถูกโรค ถูกคน ถูกวิธี ถูกขนาด และถูกเวลา เสมือนหนึ่งเป็นผู้ช่วยเตือนผู้ป่วยให้ใช้ยาอย่างถูกต้องตามคำสั่งแพทย์ ส่งผลดีต่อการรักษาโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภาวะแทรกซ้อน เรียกโรคเอ็นซีดี “NCDs” ทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันสูง ทั้งหมดนี้ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนขึ้น อย่างไตวายหรือเป็นโรคหัวใจ ต้องทานยาหลายตัว อาจมีความยุ่งยาก

นพ.สุพจน์ ภูเก้าล้วน

ยาบางตัวทานเข้าไปพร้อมกันอาจเกิดปฏิกิริยา ได้ในตอนนั้น เช่นบางคนเป็นโรคไตวาย แคลเซียมในเลือดจะต่ำ ต้องให้ยาแคลเซียมเข้าไป ซึ่งแคลเซียมจะไปจับกับยาตัวอื่นได้ ทำให้ยาตัวอื่นมีประสิทธิภาพในการดูดซึมลดน้อยลง มีคนถามว่า ทานหลังอาหารตัวไหนทานทันที ตัวไหนทาน 15 นาที ตัวไหนทานครึ่งชั่วโมง ตัวไหนต้องทานตอนท้องว่าง บางทีทานเวลาใกล้เคียงกัน แต่ว่าถ้าทานพร้อมกัน อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาได้

อีกอย่างคนไข้ที่เป็นโรคเอ็นซีดี และมีภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะเรื่องหัวใจวายกับหัวใจ มียาจำนวนมากที่ทำให้เกิดความสับสนได้ หากผู้ป่วยมีผู้ช่วย แต่ละมื้อมีกระดาษ 1 ใบ เปิดขึ้นมาให้เห็นว่าต้องหยิบยาตัวไหน เช็กได้ว่ากินแล้ว จะทำให้มีความแม่นยำมากขึ้น คนที่เป็นเอ็นซีดีที่มีภาวะแทรกซ้อน บางคนต้องทานยา 10 ตัวก็มี

นพ.สุพจน์ ภูเก้าล้วน

มองว่าจำเป็นต้องให้หุ่นยนต์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะ (Artificial Intelligence: AI) มาช่วยงานร.พ. มากน้อยแค่ไหน

ถ้าเรามีเอไอมาช่วยเรื่องของบางโรคจะลดภาระ งานของแพทย์ได้ เช่น เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 70-80% เป็นการเอกซเรย์สมอง ถ้ามีเครื่องเอไอเข้ามาช่วยสกรีน ส่วนที่ไม่ปกติต้องให้แพทย์อ่านจริงๆ แค่ 20% จะช่วยลดภาระงาน แพทย์จะได้ไปทำอย่างอื่นที่ใช้คนไม่สามารถใช้เครื่องได้ เช่น การอัลตร้าซาวด์ การฉีดสีดูอวัยวะต่างๆ จะได้ใช้เวลาไปทุ่มเททางโน้นมากขึ้น ซึ่งทางตะวันตก ทางอเมริกามีแล้ว

ผมจึงอยากให้สวทช.ไปรวบรวมดาต้า เป็นบิ๊กดาต้า เฉพาะบางส่วนที่ทำบ่อยๆ อย่างเอกซเรย์ปอด ซึ่งเป็นเอกซเรย์พื้นฐานที่ใช้บ่อยมาก เกือบ 100% ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตรวจสุขภาพ หรือการสกรีนหาโรควัณโรค ซึ่งประเทศไทยยังเป็นปัญหาใหญ่อยู่ หากว่ามีความผิดปกติแค่ 10% อีก 90% นี่ก็ไม่จำเป็นต้องอ่านโดยแพทย์ แต่ถ้าสงสัย หรือมีความผิดปกติ เอไอสามารถดึงออกมาได้ ตรงนั้นก็ลดภาระงานไปเยอะเลย

เรื่องเอกซเรย์ที่ว่าในไทยและในต่างประเทศก็มี แต่ผมเสนอกับสวทช.ว่าหากมี บิ๊กดาต้า เชื่อว่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง โพรเซสเอกซเรย์น่าจะมีข้อมูลเป็นแสน

นพ.สุพจน์ ภูเก้าล้วน

ผู้บริหารสวทช.และทีมงานร.พ.กระบี่

มีเสียงวิจารณ์ว่าหากใช้เอไอทางการแพทย์กันมากต่อไปหมอ – พยาบาลอาจตกงาน

ผมคิดว่าบุคลากรทางการแพทย์จะได้ลดปริมาณงาน หันไปเน้นเรื่องของคุณภาพ ยกตัวอย่างเช่น คุณหมอเอกซเรย์ การทำอัลตร้าซาวด์ ต้องใช้คน ไม่สามารถใช้เครื่องจักรทดแทนได้ อันนี้หากลดภาระงานของหมอจากการอ่านเอกซเรย์สมอง การอ่านเอกซเรย์ปอด แล้วมาทำอัลตร้าซาวด์หรือมาฉีดสี เพื่อจะดูอวัยวะต่างๆ เช่น ลำไส้ หรือทางเดินปัสสาวะ จะช่วยทำให้ร.พ.ให้บริการผู้ป่วยได้มากขึ้น เร็วขึ้น

ส่วนพยาบาลถ้ามีระบบยา และระบบต่างๆ ที่จะมาช่วยวัดความดัน วัดชีพจร หรือวัดไข้ ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยจะได้ไม่ต้องใช้คนจด จะได้ไปเน้นในเรื่องของคนไข้ที่จำเป็นต้องดูแลรักษา เน้นไปด้านคุณภาพมากกว่า

คนกระบี่เป็นโรคอะไรมากสุด

โรคเอ็นซีดี เป็นลำดับต้นๆ ของทุกร.พ.ในประเทศไทยเลย ล้วนแต่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพ ส่วนโรคอื่นที่เป็นปัญหาสำคัญของพื้นที่ เรื่องของอุบัติเหตุ และวัณโรค เฉพาะกระบี่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกที่มีอัตราการระบาดของวัณโรคสูง ซึ่งแอพพลิเคชั่นฟาร์มาเซฟช่วยโรคนี้ได้เยอะ เนื่องจากคนไข้กินยาไม่ครบ รักษาไม่หายขาด ตอนนี้ต้องถือว่าในเขตสุขภาพที่ 11 โดยเฉพาะกระบี่เป็นจังหวัดที่รักษาวัณโรคสำเร็จ หมายความว่ากินยาครบ รักษาหายสูงที่สุดในประเทศ มีคนไข้ 70-80 ราย มีทั้งที่อยู่ในเรือนจำและนอกเรือนจำ

ขอทราบวิธีป้องกันวัณโรค

พวกกลุ่มเสี่ยงเช่น คนไข้เบาหวาน คนไข้ที่เป็นคนสูงอายุเกิน 65 ปีขึ้นไป ควรเอกซเรย์ปอดทุกปี รวมทั้งคนที่สัมผัสกับคนที่เป็นโรควัณโรค คนที่อยู่ในที่แออัดอย่างพวกนักโทษ ผู้ต้องขังในเรือนจำ คนเป็นเอชไอวี คนที่กินยากดภูมิต้านทาน คนเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อวัณโรค

ความพร้อมของร.พ.กระบี่ในการรักษาโรคอยู่ในระดับไหน

ถือว่าพอสมควร ยกตัวอย่างปกติคนไข้ที่เป็นวัณโรค ระยะที่พบเชื้อต้องรักษาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ถึงจะปลอดภัย แต่ร.พ.กระบี่ห้องแยกโรคยังไม่พอ มีอยู่แค่ห้องเดียว ส่วนเตียงมีพร้อม เพราะเพิ่งได้ตึกใหม่ ลดความแออัดลงไปได้ แต่ปัญหาห้องผ่าตัดกับไอซียูยังมีไม่เพียงพอ

ปกติร.พ.ต้องมีห้องไอซียู 10% ของขนาดร.พ. ร.พ.กระบี่ 340 เตียง ควรจะมี 34 เตียง แต่กลับมีเพียงแค่ 10 เตียง ขณะที่มีคนใส่ท่อช่วยหายใจแต่ละวัน 30-40 คน ทั้งนอกทั้งในไอซียู ส่วนจำนวนหมอโอเค ตอนนี้มี 60 คน จริงๆ ต้องมี 90 คน ยังพอไหว แต่พยาบาลขาดเยอะ ควรมี 450 คน แต่มีแค่ 200 คน ขาดไป 1 ใน 3

ร.พ.กระบี่ขาดแคลนห้องผ่าตัด เพราะหมอมี 60 คน หมอผ่าตัดเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา สถิติการผ่าตัดอยู่ปีละหมื่นกว่ารายไม่เพิ่มเลย เพราะไม่มีห้องให้ผ่า คนไข้บางคนก็ไปร.พ.อื่น บางแผนกคอยนานตั้ง 4-6 เดือน กว่าจะได้ผ่าตัด

แผนงานปีนี้มีอะไรเเป็นรูปธรรมชัดเจน

มีแผนเรื่องของการลดความแออัดของผู้ป่วยนอก โดยใช้เทคโนโลยีเรื่องของการลงทะเบียน ระบบคิว และเรื่องของการซักประวัติด้วยตัวเอง ผ่านมือถือ มีแอพพลิเคชั่นลงทะเบียนล่วงหน้าได้เลย นอกจากนี้จะมีตึกใหม่ที่จะเปิดตึกนำผู้ป่วยวิกฤตที่ใช้ท่อหายใจไปอยู่บน อาคารเดียวกัน ทดแทนห้องไอซียู ส่วนเรื่องห้องผ่าตัดกับห้องไอซียู หวังว่าจะได้งบก่อสร้างปี 2564

นพ.สุพจน์ ภูเก้าล้วน

ร.พ.กระบี่เด่นในการรักษาโรคอะไรบ้าง

หมอผ่าตัดผ่านการส่องกล้องเก่งมาก ผ่าตัดมะเร็งลำไส้ ไม่ต้องเปิดช่องท้อง ผ่าตัดถุงน้ำดี ไปผ่าตัดนิ่วในท่อไตไม่ต้องผ่า ส่องกล้องเข้าไป แล้วไปยิง และยังมีหมอศัลยกรรมตกแต่งพลาสติก แต่ปัญหาคือ คุณหมอแต่ละคนใน 1 สัปดาห์มีเวลาเข้าห้องผ่าตัดแค่ 3 ช.ม.ครึ่ง เวลาที่เหลือคือแย่งห้องผ่าตัดกันเพราะห้องผ่าตัดมีไม่พอ จะมีโควตาให้ครึ่งวัน มีห้องผ่าตัดอยู่แค่ 6 ห้อง ทั้งที่บุคลากรพร้อม ปีนี้ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้แต่ก็พยายามแก้ปัญหาระยะยาว โดยการขอสนับสนุน พร้อมหางบฯ สร้างห้องผ่าตัดเพิ่มอีก 1 ห้อง ใช้งบฯ 8-10 ล้าน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน