คอลัมน์ ข่าวสดสตรี

กว่า 46 ปีมาแล้วที่มูลนิธิโสสะสร้างคนดีมีคุณภาพให้สังคมไทยแล้วกว่า 500 คน ด้วยการเลี้ยงดูเด็กๆ ที่สูญเสียครอบครัว ด้วยรูปแบบครอบครัวทดแทนถาวร โดยในบ้านของครอบครัวทดแทนจะมีคุณแม่โสสะดูแลลูกๆ 10 กว่าคน ซึ่งต่างที่มาและไม่ใช่ลูกจริงๆ ของเธอ จนพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การเลี้ยงดูลักษณะนี้มีต้นแบบมาจาก องค์กรหมู่บ้านเด็กเอสโอเอส สากล ประเทศออสเตรีย (SOS children?s Villages International)

ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี มูลนิธิเด็กโสสะฯ จัดงาน “ครอบครัวคือชีวิต” พร้อมกับประเทศอื่นทั่วโลกอีก 134 ประเทศ ให้ตรงกับเดือนที่สหประชาชาติประกาศให้มี วันครอบครัวสากล (UN Intenational Day of Families) เพื่อให้สังคมโลกตระหนักว่าครอบครัวเป็นที่ที่เหมาะสมที่สุดกับการเติบโตของเด็กๆ โดยมี คุณหญิงโรส บริบาลบุรีภัณฑ์ ประธานกรรมการที่ปรึกษา พล.ต.ต.นววัฒน์ เจริญรัชต์ภาคย์ ประธานกรรมการอำนวยการ เป็นประธานการจัดงาน ร่วมกับ นายธนา เตรัตนชัย เลขาธิการและกรรมการอำนวยการ มูลนิธิเด็กโสสะฯ

นายธนา เตรัตนชัย กล่าวว่า เด็กๆ โสสะมาจากการถูกทอดทิ้ง ไม่ว่าจะสูญเสียพ่อแม่หรือไม่ได้รับการดูแลเพราะยากจน อันนี้จะเป็นบาดแผลในใจของเด็ก คุณแม่โสสะจะเข้าใจดีว่าต้องเลี้ยงดูหัวใจของเด็กๆ แต่ละคน ตัวเมื่อเทียบกับใจจะกลายเป็นปัญหาเล็กมากไปเลย เพราะฉะนั้นความรักของคุณแม่ที่จะให้ต้องมากกว่าครอบครัวธรรมดาด้วยซ้ำ

“เคยถามว่าอายุช่วงไหนเลี้ยงยากสุด คำตอบคือวัยรุ่น แล้วยิ่งตอนนี้ปัญหาเทคโนโลยีเข้ามาในบ้านเราเร็วมาก เด็กจะดูอะไรก็กดเข้าไปดู เรื่องของโซเชี่ยล ยาเสพติด เป็นเรื่องที่คุณแม่ต้องดูแลเข้มงวดมาก การดูแลของเราไม่ใช่แค่เอาอาหาร เอาเสื้อผ้าเก่าไปให้เขา เด็กๆ ก็จะโตมาแค่ตัว แต่หัวใจจะมีหลุมที่ไม่เคยเติมเต็ม แล้ววันหนึ่งที่โตขึ้นมาเขาจะกลายเป็นคนมีปัญหา เราต้องพยายามให้เขาอิ่มที่ใจให้ได้

ทุกวันนี้เราส่งลูกโสสะกว่า 500 คนออกไปสร้างความสำเร็จ สร้างครอบครัวที่แข็งแกร่งของตัวเอง เราอยากทำอย่างนี้กับเด็กๆ อีกเป็นพันเป็นหมื่นคน แต่เราต้องการคนช่วยสนับสนุน ถ้าสนใจวิธีการของเราสามารถเข้าเยี่ยมชมหมู่บ้านโสสะได้ทั้ง 5 แห่ง”

ภายในงานเชิญลูกๆ โสสะที่เติบโตออกไปสร้างครอบครัวที่แข็งแรงในสังคม ได้แก่ นิธิรุจน์ ลภัสเกียรติสุกุล ผู้จัดการสาขาอาวุโส ธนาคารกรุงไทย เดิมเป็นเด็กชายจากหมู่บ้านเด็กโสสะบางปู สมุทรปราการ, ชุดติมาพร ธรรมวิฐาน นักวิชาการสิ่งแวดล้อม เธอเติบโตมาจากหมู่บ้านเด็กโสสะ หนองคาย และ ชอุ่ม พนาลี เจ้าของสวนผลไม้ในจังหวัดนครศรีธรรมราช จากหมู่บ้านเด็กโสสะหาดใหญ่ สงขลา ร่วมพูดคุย

ชอุ่ม พนาลี บอกเล่าว่า เข้าไปอยู่ในบ้านโสสะตั้งแต่อายุ 12 ปี จบ ปวส.ตอนนั้นออกมาก็เปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้าเป็นของตัวเอง สิ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จได้ถึงทุกวันนี้เป็นเพราะเราได้ความคิดตอนที่เราอยู่บ้านโสสะ ตอนเด็กๆ จะซน ดื้อมาก เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งแม่ถึงกับบอกเราว่าแม่ไม่ทำแล้วนะ เราก็ได้คิดเลยว่าคนอื่นมาอยู่แทนเขาจะเหมือนแม่เราหรือ เครียดเลย เป็นจุดพลิกเลยว่าทำอะไรก็ได้แต่ต้องไม่ให้แม่เสียใจ ต้องเรียนให้ดี ทำงานให้ดี ประกอบอาชีพที่ดี ทำอะไรก็ได้ให้แม่ภูมิใจในตัวเรา ไม่ให้เดือดร้อนใคร

“ตอนที่เราเจ็บป่วย แม่จะทำให้เราได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะปวดหัว ตัวร้อน แม่มีวิธีการของแม่ จนเรามีลูกเราก็ยังเอาวิธีการของแม่มาใช้ได้ แม่จะปลูกฝังเราเรื่องการปลูกต้นไม้ จนวันนี้เรามีชีวิตของตัวเอง เป็นเจ้าของสวนยาง สวนผลไม้นครศรีธรรมราช ยึดหลักเศรษฐกิจ พอเพียง ทำมา 17 ปี มีครอบครัว มีลูก 2 คน แต่ไม่ว่าจะทำอะไร อย่างเช่นจะซื้อนั่นซื้อนี่ต้องไปถามแม่ตลอดทุกเรื่อง แม่เป็นชีวิตของเราเลย”

ปัจจุบันมีเด็กโสสะประมาณ 700 คน อยู่ในครอบครัวทดแทนถาวร 50 ครอบครัว ใน 5 หมู่บ้านโสสะทั่วประเทศไทย ได้แก่ บางปู สมุทรปราการ, หาดใหญ่ สงขลา, หนองคาย, เชียงราย และ ภูเก็ต

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคนดีมีคุณภาพให้สังคม ด้วยการสนับสนุนการดูแลน้องๆ เติบโตในครอบครัวที่อบอุ่น โดยร่วมบริจาคได้ที่ www.facebook.com/SOSthailand หรือ www.sosthailand.org หรือโทร.0-2380-1177

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน